วิสัยทัศน์ KBank ธนาคารแห่งความยั่งยืน ในยุคเศรษฐกิจเติบโตแบบ K Shape เดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในไทยและ AEC+3

ปี 2023 สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคือสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน มีความพยายามออกมาตรการทางการเงิน มาตรการทางภาษี ซึ่งส่งผลในเชิงบวกอยู่บ้าง แต่หลายฝ่ายก็ยังคาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นปีที่หนักหน่วงแน่นอน ดังนั้น การทำธุรกิจต้องอยู่บนความรอบคอบและระมัดระวัง

kbank

ปัจจัยที่ยังส่งผลดีตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา คือ เรื่องของการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศกันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน รวมถึงการส่งออกที่หลายอุตสาหกรรมยังเป็นที่ต้องการของตลาด เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ย้อนมาดูธุรกิจธนาคาร คำถามที่หลายคนสนใจคือ ธนาคารจะสามารถเติบโตได้อย่างไรในยุคเศรษฐกิจยังคงเติบโตเป็น K Shape เห็นภาพการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง

kbank

KBank พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืนและระมัดระวัง

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KBank บอกว่า ปีนี้หลายคนเป็นห่วงเรื่องของเศรษฐกิจ แต่จากการวิเคราะห์และคาดการณ์แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าปี 2022 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หัวใจสำคัญคือการท่องเที่ยว ยิ่งจีนมีนโยบายเปิดประเทศ และทางรัฐฐาลก็มีมาตรการป้องกันโควิดที่ดี จะเป็นตัวผลักดันสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.7% 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของไทย มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ สายการบิน โรงแรม รถเช่า ร้านอาหาร ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนหลายล้านคนในประเทศ และมีผลในทางอ้อมไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย แม้ว่าในปี 2023 การท่องเที่ยวจะยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติ 100% เท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณบวก ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในปี 2024

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ภาคการส่งออก ที่แม้หลายอุตสาหกรรมยังมีความต้องการของตลาด แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Recession) จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเกิดการเติบโตแบบ K Shape กล่าวคือ มีการฟื้นตัวในบางประเภทธุรกิจ ขณะที่ปัจจัยที่มีผลกระทบอื่นๆ เช่น อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้น ทุกธุรกิจต้องวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม

kbank

กสิกรไทย ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability)

เรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นสิ่งที่หลายธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจและพูดถึงอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2022 และมาปี 2023 ก็เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหันมาโฟกัสเรื่องนี้ รวมถึง KBank ซึ่งเป็นธนาคารที่มีเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนมาโดยตลอด พร้อมตั้งเป้าหมายผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

KBank เคยประกาศแนวทางไว้ว่า การที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ธนาคารจะเน้นผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับบริบทโดยรอบ ตั้งแต่ลูกค้าที่มาใช้บริการ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงประเทศชาติ

ขัตติยา บอกว่า ภารกิจสำคัญของธนาคาร คือ การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน จะมองแค่ธุรกิจของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น จะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ความร่วมมือกับพันธมิตรในไทยและต่างประเทศเพื่อสิ่งที่ดียิ่งกว่าเดิม

ลูกค้าต้องได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่าย และช่วยให้ชีวิตและธุรกิจดียิ่งขึ้น ดังที่กล่าวแต่แรกว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีการเติบโตแบบ K Shape ดังนั้นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถฟื้นตัวได้ KBank พร้อมช่วยเหลือและดูแล ส่วนธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ ต้องได้รับการสนับสนุนและต่อยอดเช่นกัน

kbank

เดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อการตอบโจทย์ทางธุรกิจ

แผนยุทธศาสตร์ธนาคารกสิกรไทย ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารแห่งความยั่งยืน หัวใจสำคัญคือ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี บริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการต้นทุนเหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า แบ่งเป็นสาระสำคัญดังนี้

  1. ก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Development) ด้วยหลัก ESG ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจจากธนาคารแบบเดิม และทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ ธนาคารกสิกรไทย (KASIKORNBANK)
  2. ต่อยอดยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า (Growth Strategy) โดย KBank เป็นผู้นำในบริการ Digital Banking ผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS มีบริการชำระเงินทางดิจิทัล, ปล่อยสินเชื่อทั้งด้านธุรกิจและบุคคล ให้บริการลงทุนและประกันไปยังกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งให้บริการทั้งในไทยและภูมิภาค AEC+3
  3. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบ End-to-End ใน 5 ด้าน คือ การพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล, การเป็นที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้และการเป็นผู้นำ, การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเป็นธนาคารชั้นนำในระดับภูมิภาค, การระบุความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและกำหนดแนวทางป้องกันเชิงรุก และ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยสร้างคุณค่าที่มากขึ้น

KBank มุ่งให้บริการมากกว่าแค่บริการทางการเงิน ด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน อีกทั้งการได้รับรางวัล 1 ใน 50 บริษัทชั้นนำที่น่าทำงานที่สุด เป็นเครื่องยืนยันว่า นี่คือองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องของคน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของความสำเร็จ

kbank

ขยายธุรกิจระดับภูมิภาค สร้างความแข็งแกร่งใน AEC+3

หลายปีที่ผ่านมา KBank ขยายธุรกิจออกสู่ระดับภูมิภาค AEC+3 เพื่อยืนยันเป้าหมายการเป็นธนาคารชั้นนำในระดับภูมิภาค ในปี 2022 ที่ผ่านมา มีการลงทุนและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมทุน 10,000 ล้านบาทกับ JMT จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) บริษัทร่วมทุนแห่งแรกในไทยระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อยกระดับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์

การเปิดตัว K PAY LATER เป็นธนาคารแรก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น การเปิดสาขานครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และเปิดบริการ K PLUS Vietnam เพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้กับลูกค้าบุคคลในเวียดนาม

สำหรับเวียดนาม ถือว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของ KBank โดยอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่แบบ Banking-as-a Service (BaaS) ให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงิน รวมถึงในกัมพูชา ที่พร้อมเปิดตัว Payroll Lending เพื่อให้ลูกค้ารับสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

เป้าหมายต่อไปคือ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นรวมในธนาคารแมสเปี้ยน เป็น 67.5% ยังมีแผนขยายการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มจำนวนพันธมิตร เพื่อการเติบโตในอนาคต

kbank

เจาะเป้าหมายทางการเงินปี 2023 เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

KBank ได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินของปีนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ที่ 5-7% จากการขยายตัวของสินเชื่อตามกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย อันเป็นการแสวงหาและกระจายแหล่งรายได้ใหม่ รวมถึงการเติบโตสินเชื่อธุรกิจบรรษัท อีกทั้ง ธนาคารยังคงนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ (Data Analytics) อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า วิเคราะห์เพื่อหาลูกค้าที่มีความสนใจและมีความสามารถในการจ่ายคืน คัดกรองและดูแลคุณภาพของสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ตั้งเป้าสินเชื่อบรรษัทธุรกิจเติบโต 4-6% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโต 1-2% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 2-4%
  • ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin:NIM) ที่ 3.30-3.45% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และการเติบโตสินเชื่อของธนาคาร รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยในระดับที่ดี
  • รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) ทรงตัว จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการทำธุรกรรม ในขณะที่ธนาคารจะขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับ Wealth Management เพื่อช่วยบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า รวมถึงการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว
  • ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ในระดับ Low to Mid-40s จากรายได้ที่เติบโตสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) อย่างต่อเนื่อง 
  • เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio (Gross) ที่ต่ำกว่า 3.25% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเป็น K Shape มีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงในแต่ละประเภทธุรกิจยังคงส่งผลกระทบต่อคุณภาพเงินให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารจะยังคงบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง 
  • Credit Cost คาดว่าจะอยู่ในช่วง 175-200 bps ทยอยลดลงจากระดับสูงสุดในปีก่อน โดยธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 

bangkok

บทสรุป: เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

หนึ่งในเป้าหมายของ KBank ในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศและภูมิภาคนี้ คือการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยที่ KBank ต้องสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตัวเอง รวมถึงขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกัน เป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย

จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและแผนยุทธศาสตร์ในปีนี้ และมองย้อนไปถึงการดำเนินการที่ผ่านมา การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำเสนอบริการทางดิจิทัล ฯลฯ ทั้งหมดอยู่บนเส้นทางของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน เชื่อว่า นี่คือธนาคารที่สามารถสร้างการเติบโตได้ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมด้วยความมุ่งมั่นที่จะดูแลลูกค้าและประเทศไทยให้เดินหน้าไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา