ยกระดับบริการด้วยนวัตกรรม KBank ส่งปัญญาประดิษฐ์ KADE ต่อยอดแผนธนาคารแห่งอนาคต

ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank มีแผนที่จะก้าวสู่ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใน 3 ปี จึงไม่แปลกที่หลังจากนี้จะเห็นอะไรล้ำๆ จากทางแบงก์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือ KADE (เกด) ปัญญาประดิษฐ์ที่จะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น

สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

คู่หูอัจฉริยะคนใหม่ที่พร้อมช่วยงานทุกด้าน

ด้วยชื่อที่คล้ายคลึงกับตัวละครจากเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่โด่งดังอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายๆ คนคงงงว่า KADE คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง และจะเก่งกาจเหมือนกับเกศสุรางค์ในร่างของแม่การะเกดเลยหรือไม่ งานนี้ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) “สมคิด จิรานันตรัตน์” เตรียมคำตอบไว้ให้หมดแล้ว

“KADE คือ K PLUS AI-Driven Experience หรือคู่หูอัจฉริยะคนใหม่ที่จะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ผ่านการนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้กับแอปพลิเคชั่น K PLUS ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 8 ล้านราย มายกระดับในทุกๆ รูปแบบการใช้งาน เพื่อตอบโจทย์ และรู้ใจผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจต่างๆ มากที่สุด” สมคิด กล่าว

แนวคิดในการพัฒนา KADE

สำหรับตัว KADE ถูกสร้างมาภายใต้แนวคิด 3 ด้านคือ Machine Intelligence ที่ใช้ AI สร้างความฉลาดในการเข้าใจลูกค้าทุกระดับ Design Intelligence การออกแบบโดยยึดหลักผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และ Service Intelligence การนำเทคโนโลยี AI มาสร้างบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ถูกต้อง รวดเร็ว ตรงใจ ทุกที่ ทุกเวลา

AI คือหัวใจที่ช่วยสร้างความเท่าเทียม

ธนาคารโลกรายงานว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังมีผู้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน ธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาบริการ ที่สร้างความทัดเทียมในการใช้บริการทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้คน

ตัวอย่างบริการที่ KADE จะเข้าไปมีส่วนร่วม

“KADE จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย และช่วยขยายขอบเขตบริการไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น ก่อนหน้านี้ทาง KBTG ได้ออกแบบ K PLUS Beacon ซึ่งนำเรื่อง Design Intelligence มาออกแบบธนาคารบนมือถือเพื่อให้ผู้บกพร่องทางการเห็นสามารถใช้งานบริการของธนาคารได้ทัดเทียมกับคนอื่นๆ”

นอกจากนี้ KBank ได้มีการทดลองนำเสนอสินค้าเกษตรแบบตรงใจให้กับผู้ซื้อ อันเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร โดยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน K PLUS วิธีการดังกล่าวนี้จะสามารถเพิ่มรายได้ ให้กับผู้ค้ารายเล็กๆ ให้มีโอกาสในการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ โดยมีต้นทุนการตลาดที่ต่ำมาก

KBank ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับกับกระแส Digital Disruption เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงให้ความสำคัญแก่การให้บริการที่ตรงใจ เพราะการเข้าไปยึดพื้นที่ในใจของลูกค้าคือคำตอบแรกในการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการวางตัวเองเป็น Total Solution ที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง

ทีมงานที่ร่วมกันวิจัย และพัฒนา KADE

ตั้งแต่ลงทุนจนไปถึงการกู้เงิน

KADE เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยพัฒนา K PLUS ให้มีความฉลาดมากขึ้น เกิดเป็นนวัตกรรมทางการเงินหลากรูปแบบที่ใช้งานบนแอปพลิเคชั่น K PLUS ให้ลูกค้าได้สัมผัสภายในปี 2561 และคาดว่าจะทำให้แอปฯ นี้มียอดใช้งานกว่า 20 ล้านรายภายใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านการลงทุนวิจัยพัฒนา 5,000 ล้านบาทต่อปี

ก่อนหน้านี้ KBTG ได้ทดลองบริการ Machine Lending โดยใช้ AI ในการวิเคราะห์เฟ้นหาลูกค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสินเชื่อส่วนบุคคลขนาดเล็ก และส่งข้อเสนอผ่าน K PLUS ให้ลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะแจ้งความต้องการ หากสนใจเงินกู้ก็จะมีเงินเข้าบัญชีภายใน 1 นาที ซึ่งจากการทดลองตั้งแต่เดือนพ.ย. 2560 เป็นต้นมา พบว่าการเสนอสินเชื่อในรูปแบบใหม่ด้วย Machine Lending นี้ มีลูกค้าตอบรับบริการในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับวิธีการแบบเดิม

แผนของธนาคารโลกในการช่วยเหลือให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ในปี 2563

ดังนั้นการมี KADE ขึ้นมา จึงช่วยให้เพิ่มลูกค้าในกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ รวมถึงตอบโจทย์กลุ่มที่ต้องการเงินทุน รวมถึงที่ปรึกษาเฉพาะบุคคลในการลงทุนได้อีกด้วย และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า KBank คือธนาคารผู้นำในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลในตอนนี้

สรุป

การสร้างปัญญาประดิษฐ์อย่าง KADE จะเข้ามาช่วยทำให้ K PLUS ฉลาดมากขึ้น เข้าใจและตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกสถานการณ์ ทำให้การเงินเป็นเรื่องง่ายที่สัมผัสได้สำหรับคนไทยทุกคน อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Digital Bank จะทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง KBank ยืนยันว่าการให้บริการผ่านสาขายังคงมีความจำเป็น และเชื่อว่า Physical Bank และ Digital Bank สามารถเติบโตเคียงคู่ไปด้วยกันได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา