ส่องงาน แฮกกาธอน AFTERKLASS Business KAMP โดย KBank เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจนวัตกรรมเพื่อสังคม

Kbank AFTERKLASS 1

เวลาพูดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ หลายคนมักนึกถึงธุรกิจที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำ ๆ เป็นเครื่องจักรผลิตเงินที่สร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ เช่น เป็น Search Engine ที่คนทั่วโลกใช้ เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชากรกว่า 1 ใน 3 เป็นสมาชิก หรือเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ที่พลิกวงการไปตลอดการ

นอกจากนี้แล้ว เวลาพูดถึงสตาร์ทอัพหลายคนอาจนึกถึงธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเติบโตก้าวกระโดดในอีกหลายปีข้างหน้า อย่างในปัจจุบัน เหล่าบริษัท Big Tech ที่ในอดีตก็เริ่มต้นมาจากการเป็นสตาร์ทอัพ ก็มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่สูงกว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศเล็ก ๆ เสียอีก

อย่างไรก็ตามคำว่า สตาร์ทอัพพลิกโลก อาจหมายถึงธุรกิจที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับปัญหาสังคมเช่นเดียวกัน ลองนึกภาพว่าโลกใบนี้มีถังขยะที่แยกขยะเองได้ ทุ่นช่วยเก็บขยะในแม่น้ำ ระบบจูงใจที่ช่วยให้คนใส่หมวกกันน็อกตลอดเวลา หรือแอปพลิเคชันที่คอยรับฟังปัญหาชีวิต ถ้าเรื่องแบบนี้เป็นจริงได้สังคมของเราก็คงจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย 

และไอเดียทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือหนึ่งในไอเดียของผู้เข้าแข่งขันเป็นน้องๆ ระดับมัธยมปลาย ที่ถูกบ่มเพาะขึ้นภายในงานแฮกกาธอน AFTERKLASS Business KAMP โดยธนาคารกสิกรไทยและมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดรับและบ่มเพาะไอเดียจากคนรุ่นใหม่ในการปั้นแผนธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตลอดจนมีความยั่งยืนทั้งในเชิงธุรกิจและสังคม

Kbank AFTERKLASS 2

วันนี้ Brand Inside จะพาทุกท่านไปชมงาน AFTERKLASS Business KAMP ว่ามีความน่าสนใจแค่ไหน พร้อมพาไปส่องไอเดียนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ไม่เพียงแค่สร้างสรรค์แต่ยังเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ และพิเศษ! กระทบไหล่ผู้เข้าร่วมแข่งขันชั้นม.ปลายไอเดียบรรเจิดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศภายในงานนี้

AFTERKLASS Biz KAMP พื้นที่ขับเคลื่อนไอเดียเพื่อสังคม

คุณรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย อธิบายว่า AFTERKLASS Business KAMP เป็นแคมป์แรก ๆ ของไทยที่สอนเยาวชนระดับมัธยมปลายให้ได้เรียนรู้เข้มข้นในทุกมิติของการเป็นสตาร์ทอัพและได้สัมผัสแข่งขันในรูปแบบแฮคกาธอน (Hackathon) โดยโครงการนี้จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง 

แต่สิ่งที่พิเศษในงานครั้งนี้ (ปีที่ 4) คือการมาในธีม Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 ซี่งนอกจากไอเดียของผู้เข้าร่วมจะต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจแล้ว ก็ยังต้องตอบโจทย์สังคมอีกด้วย พูดง่าย ๆ คือต้องนำเสนอไอเดียธุรกิจสาย ESG นั่นเอง 

โดยภายในงานนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องสร้างแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์ 1 ใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  • ด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คน 
  • ด้านคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม และเมืองอัจฉริยะ 
  • ด้านสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ

อีกหนึ่งเรื่องที่พิเศษคือ ผู้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) จะได้พัฒนาตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์จริง ๆ (Minimum Viable Product: MVP) เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ๆ ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ต้องการได้หรือไม่ โดยทางมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเข้ามามาร่วมสนับสนุนทุนหลักสูตรช่วง MVP เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนและลองทำจริง ทดสอบกับผู้ใช้จริงเพื่อรับข้อคิดเห็น และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด

Kbank AFTERKLASS 7

โดยหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมมีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ทุ่นเก็บขยะในแม่น้ำไปให้ทางกรุงเทพมหานครทดลองใช้จริง และได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กันถึง 3 ครั้ง จนออกมาเป็นผลงานในเวอร์ชันสุดท้ายก่อนนำมาเสนอจริงให้กับกรรมการผู้ตัดสิน

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้จาก Mentor มากฝีมือเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งจากความต้องการของผู้ใช้ และความเป็นไปได้ในแง่มุมธุรกิจทั้งด้านความคุ้มทุน การวิเคราะห์ตลาด และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี และยังได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญจาก Beacon VC บริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย 

งานในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมชั้นมัธยมปลายได้ทำงานแบบสตาร์ทอัพโดยตรง เช่น ทำงานเป็น Squad กับเพื่อนร่วมทีมที่มีความถนัดต่างสายทั้งด้านธุรกิจ การออกแบบ เทคโนโลยี และการตลาด ตลอดจนการนำเสนอนวัตกรรมต่อหน้านักลงทุนในการขอเงินทุนนำไอเดียไปพัฒนาให้สำเร็จตามแผน 

โดยผู้เข้าร่วมได้นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการจากหลากหลายแวดวง ได้แก่

  • คุณรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย
  • คุณณภัทร นันทเวชสันติ Beacon VC Partnership Head บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จํากัด หรือ Beacon VC
  • คุณพัฐวร ผ่องแผ้ว Senior Principal Visionary Architect บริษัท กสิกร แล็บส์ จำกัด  KBTG
  • ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS
  • คุณปรัชญา โมรา ผู้ก่อตั้งเพจ “ไปให้ถึงร้อยล้าน” เพจคนทําธุรกิจที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน
  • คุณเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO & Co-Founder BASE Playhouse

Kbank AFTERKLASS 8

จาก 0 ถึง 100: เรื่องเล่าจากเจ้าของไอเดียนวัตกรรมเพื่อสังคม

ตลอดการเดินทางกว่า 3 เดือน ใน AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 ในที่สุดก็มีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้งสิ้นจำนวน 6 ทีม ได้แก่

  • ทีมซักเสร็จฟู่ (Successful) กับไอเดีย Boney แอปพลิเคชันโกนิโอมิเตอร์สำหรับวัดระยะการเคลื่อนที่ของข้อต่อในรูปแบบภาษาไทย 
  • ทีมเก๋ากี่ กับไอเดีย How are you Online Application Platform ที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน
  • ทีม AngsanaNew กับไอเดีย RiverRanger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะทางน้ำเพื่อลำคลองสะอาด
  • ทีมจรวดทางเรียบ กับไอเดีย Heet รองเท้าให้ความอบอุ่นบรรเทาอาการหนาวข้อและขา สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ 
  • ทีม Passinion กับไอเดีย Smart Trash Point ถังขยะที่สนับสนุนการแยกขยะภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมี Feature สะสมแต้ม
  • ทีม Flying Turtle กับไอเดีย Track Point Sensor เซนเซอร์บนหมวกกันน็อคนิรภัยและแอปพลิเคชันเพื่อจูงใจผู้ขับขี่จักรยานยนต์ให้สวมหมวกกันน็อคมากขึ้น

และภายในงานวันสุดท้าย ทีมที่ผ่านด่านกรรมการทั้ง 6 ท่าน และได้ขึ้นแท่นชนะเลิศได้แก่ ทีมเก๋ากี่ ที่มาพร้อมไอเดียแอปพลิเคชัน How are you ที่เหมือนเป็นคอมมูนิตี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้สามารถคุยกับผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครเพื่อรับฟังปัญหาที่ถาโถมเข้ามาของผู้ใช้ ส่วนทีมที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 ได้แก่ทีม AngsanaNew และทีม Flying Turtle

Kbank AFTERKLASS 5

ทีมผู้ชนะเลิศเล่าให้ฟังว่าส่วนที่ยากที่สุดของการสร้างแผนธุรกิจในครั้งนี้คือการมุ่งบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตซึ่งโดยตัวมันเองก็ยากแล้วและยังต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ความเป็นธุรกิจอีกด้วย 

ทั้งนี้ ทางทีมเล่าว่าตนตั้งต้นไอเดียจากปัญหาที่ใกล้ตัว โดยในช่วงแรกก็ผลักดันไอเดียโดยไม่รัดกุมมากนักในเรื่องความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แต่ทางโครงการก็ช่วยให้ความรู้และพัฒนาตัวต้นแบบให้ตอบโจทย์เรื่องธุรกิจมากขึ้นซึ่งถือเป็นอีกมุมมองสำคัญที่ทางทีมได้รับกลับไปจากการเข้าร่วมในครั้งนี้

นอกจากนี้ ทีมเก๋ากี่ยังออกปากชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทำธุรกิจให้เข้ามาลองเสนอไอเดียธุรกิจเชิง ESG กัน เพราะนอกจากจะดีต่อสังคมในภาพรวมแล้วยังช่วยเติมเต็มคนรุ่นใหม่ในเรื่องการทำงานที่มีความหมายและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอีกด้วย

ความเห็นที่มีต่อโครงการของกรรมการที่เข้าร่วมตัดสิน

คุณปรัชญา โมรา กล่าวว่าสิ่งที่เยาวชนจะได้กลับไปจากงานในครั้งนี้คือประสบการณ์และทักษะชีวิตอันล้ำค่าและหาจากไหนไม่ได้ และมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้

Kbank AFTERKLASS 6

ด้าน ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ทิ้งท้ายว่า ไอเดียของผู้เข้าร่วมในงานนี้มีความน่าสนใจและเห็นได้ว่ากลั่นออกมาจากความสนใจต่อสังคมภาพรวมของคนรุ่นใหม่จากใจจริง โดยมองว่าไอเดียต่าง ๆ สามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้หากวิเคราะห์ได้ชัดเจนจริง ๆ ว่าปัญหาคืออะไรและต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างไรเพื่อตอบโจทย์และยังจับต้องได้ในทางธุรกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา