กสิกรไทย ชี้ เศรษฐกิจโลกปี 2023 ยังลำบาก น้ำมันแพง-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขึ้น ฉุดโอกาสเติบโต

ธนาคารกสิกรไทย และผู้เชี่ยวชาญแต่ละอุตสาหกรรม คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2023 ยังลำบาก ความขัดแย้งประเทศมหาอำนาจ, สงครามยืดเยื้อ, ดอกเบี้ยพุ่ง และต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ฉุดรั้งการเติบโต

กสิกรไทย

เศรษฐกิจปี 2023 ยังเติบโตลำบาก

ภายในงานสัมมนา THE WISDOM Investment Forum: Wealth in Challenging World ธนาคารกสิกรไทย และผู้เชี่ยวชาญแต่ละอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกจะเจอกับ 4 ปัจจัยที่คอยฉุดรั้งการเติบโตไม่ให้กลับมาดีเหมือนช่วงเวลาปกติประกอบด้วย

  • ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจโลก
  • สถานการณ์ยืดเยื้อสงครามรัสเซีย-ยูเครน
  • การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเงินเฟ้อ
  • ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบพุ่งสูง

นอกจากนี้ประเทศมหาอำนาจโลกทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงแม้จะมีนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับฟื้นตัว โดย IMF คาดเศรษฐกิจโลกโตไม่เกิน 2.7%

อัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากปัจจัยทั้งหมดทำให้ประเทศไทยที่เริ่มเปิดประเทศจนค่อย ๆ ฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากขึ้น ยังเผชิญกับปัญหาอื่น เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจนถึงระดับ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงจนต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนค่าแรง ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตลาดเอเชียยังพอไปได้ ต่างกับยุโรป-สหรัฐฯ

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.7% ปรับลดจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 3.8% ซึ่งมีโอกาส 25% ที่การขยายตัวจะไปไม่ถึง 2% หากเจาะไปที่แต่ละกลุ่มประเทศจะพบว่า

สหรัฐอเมริกาและยุโรป: ผลพวงของการออกนโยบายรับมือเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ราคาพลังงานที่สูง ตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังสูง ทำให้มีการใช้จ่ายลดลง และเศรษฐกิจชะลอตัว

จีน: มีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5.5% ตามที่คาดไว้ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหดตัวลง

เอเชีย: โอกาสของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งแบ่งได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มความต้องการในประเทศเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มส่งออกพลังงานที่เติบโตจากราคาพลังงานที่ดี เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างไทยและฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจจะกลับมาพร้อมกับนักท่องเที่ยว

ไทย: ฟื้นตัวดีขึ้น ความแตกต่างระหว่างค่าเงินบาทที่อ่อนและดอลลาร์ที่แข็งค่าจะแคบลง ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา โดยคาดว่าจะเติบโต 3.8% ขยับจาก 3.3% ในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา