รู้จัก Katowice เมืองเล็กๆ ในโปแลนด์ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วย E-Sports

ก่อนหน้านี้การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองรองให้เติบโตก็มีทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก แต่ปัจจุบัน E-Sports มันก็ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจเมืองรองได้ ดังนั้นลองมาศึกษาตัวอย่างเมือง Katowice ในโปแลนด์กัน

katowice
การแข่งขัน IEM Katowice

ไม่ใช่เมืองหลวง แถมเป็นอดีตเหมืองแร่

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า Katowice เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศโปแลนด์ ที่มีประชากรเพียง 2 แสนกว่าคน แถมมันยังเป็นอดีตเหมืองแร่ที่คนในศตวรรษที่ 18 ต่างต้องการเดินทางมาเสี่ยงโชคเพื่อจะนำแร่ดีๆ ออกไปขาย และหาเงินมาใช้จ่าย ซึ่งภาพจำนั้นก็ยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนยุโรปตะวันออกถึงปัจจุบัน

ทำให้เมือง Katowice นั้นขยับภาพรวมเศรษฐกิจตัวเองออกไปได้ไม่มากนัก กล่าวคือเป็นแค่เมืองท่องเที่ยวทั้งเหมืองแร่ และเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้า, คอนเสิร์ต รวมถึงมหกรรมกีฬาต่างๆ ใน Spodek Arena สถานที่เก่าแก่ที่เริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2515 ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดนี้ช่างแตกต่างกับเมืองหลวงโปแลนด์อย่าง Warsaw

katowice
คนดูที่ค่อนข้างมีอารมณ์ร่วมกับการแข่งขัน IEM Katowice

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมือง Katowice แทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะ E-Sports เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก โดยจุดเริ่มต้นคือการเซ็นสัญญากับ Intel เพื่อจัดการแข่งขัน Intel Extreme Master (IEM) การแข่งขัน Counter-Strike ชิงแชมป์โลกชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท)

แค่ 2 สัปดาห์ก็สร้างเงินสะพัดให้หลากธุรกิจ

สำหรับการแข่งขันรายการ IEM ทาง Intel ได้เซ็นสัญญากับทางการของเมือง Katowice ว่าจะจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่กินเวลาราว 2 สัปดาห์ที่เมือง Katowice ไปเรื่อยๆ และไม่ได้กำหนดว่าจะยกเลิกสัญญาเมื่อไร ซึ่งถึงตอนนี้งาน IEM ก็ช่วยสร้างมูลค่าโฆษณาให้กับเมือง Katowice ถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 739 ล้านบาท)

katowice
ทีมที่เข้าแข่งขัน IEM Katowice

นอกจากนี้ด้วยการแข่งขันที่กินระยะเวลา 2 สัปดาห์ และเป็นรายการแข่งขันที่ดึงดูดผู้ชมให้เข้ามายังเมือง Katowice ถึง 1.74 แสนคนในการแข่งขันปีล่าสุด ก็ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างโรงแรม, รถแท็กซี่, ร้านอาหาร และอื่นๆ ต่างได้ผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่มาชมการแข่งขันกลุ่มนี้เต็มๆ

Marcin Krupa นายกเทศมนตรีของเมือง Katowice เล่าให้ฟังว่า ภาพจำของเมือง Katowice ในหมู่วัยรุ่นนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ผ่านการมอง Katowice เป็นเมืองแห่ง Counter-Strike และ E-Sports ดังนั้นการที่สภาเมืองตกลงเซ็นสัญญากับ Intel เมื่อปี 2557 ก็ช่วยให้เมือง Katowice พัฒนาขึ้นจริง

katowice
บรรยากาศในเมือง Katowice // ภาพ pixabay.com

คนในเมืองก็เห็นชอบ และพยายามปรับตัว

“การเซ็นสัญญากับ Intel เริ่มเมื่อ 7 ปีก่อนที่อดีตสมาชิกสภาเมือง Katowice อย่าง Michał Jęrzejek มองว่าน่าจะเปิดให้กลุ่มทุนใหญ่มาจัดการแข่งขันเกม และทาง Piotr Uszok อดีตนายกเทศมนตรีเมือง Katowice ก็เห็นชอบ แม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้มากนัก แต่มันก็เป็นโอกาสใหม่ที่ดี” Marcin Krupa กล่าว

อย่างไรก็ตามการจะเดินหน้าเอา E-Sports มาช่วยขับเคลื่อนเมืองมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมีประชาชนบางส่วนก็เห็นต่าง แต่ด้วยผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมามันเป็นเรื่องดี ทุกคนก็ยอมปรับตัวเพื่อให้ตัวเมือง Katowice เป็นเมืองแห่ง E-Sports ที่แท้จริง โดยนอกจากงาน IEM แล้ว ก็ยังมี ESL One อีกรายการใหญ่ของ E-Sports ที่จัดที่นี่ด้วย

katowice
ด้านนอกของ Spodek Arena ที่ใช้จัดการแข่งขัน IEM Katowice // ภาพ pixabay.com

จึงไม่แปลกที่เมืองเล็กอื่นๆ ที่เห็นความสำเร็จในการนำ E-Sports มาช่วยพัฒนาเมือง Katowice ได้จริง ก็อยากนำ Katowice Model มาปรับใช้บ้าง ซึ่งก็ไม่แปลกนัก เพราะ E-Sports ก็คล้ายกับกีฬาปกติ ซึ่งรายการแข่งขันใหญ่ๆ ของกีฬาปกติก็มักจะมีผู้ชมหลั่งไหลเข้ามาในเมืองที่จัดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

Frisco และ Hangzhou คือเมืองที่พยายามทำตาม

Frisco คือเมืองเล็กๆ ที่อยู่ไกลตัวเมืองของรัฐ Texas สหรัฐอเมริกา และต้องการนำ Katowice Model มาปรับใช้เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในเมืองให้แข็งแกร่งบ้าง เพราะเมืองนี้เป็นที่ตั้งของสตูดิโอผลิตเกม รวมถึงทีม E-Sports ชั้นนำอยู่แล้ว ดังนั้นการลงทุนเพื่อใช้เรื่องนี้ดึงดูดคงไม่ยากนัก

katowice
การแข่งขัน IEM Katowice

นอกจากนี้ยังมีเมือง Hangzhou ในประเทศจีนที่อยากใช้ Katowice Model ในการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน โดยรัฐบาลเมืองมีแผนลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 30,000 ล้านบาท) เพื่อทำ E-Sports Project ถึง 14 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ E-Sports Town Complex สถานที่จัดการแข่งขันเกมได้หลายรูปแบบ

เห็นอย่างนี้แล้วก็ทำให้นึกถึง “บุรีรัมย์ โมเดล” เหมือนกัน เพราะจากจังหวัดที่ไกล และไปแค่ดูปราสาทหินพนมรุ้ง ก็กลายเป็นเมืองแห่งกีฬาที่สร้างเงินสะพัดให้กับประชาชนในจังหวัดได้มหาศาล ซึ่งปัจจุบันบุรีรัมย์ก็เริ่มลงทุนใน E-Sports แล้วด้วย ดังนั้นต้องจับตาดูกันต่อว่าจะมีการนำ Katowice Model มาใช้หรือไม่

สรุป

จากเมืองเล็กๆ ที่ไม่รู้จะเติบโตในอนาคตได้อย่างไร Katowice ก็กลายป็นเมืองที่รู้จักในนามเมืองหลวง Counter-Stirke ในเวลาสั้นๆ และก่อนหน้านี้ก็มีเกมอื่นๆ ไปจัดแข่งแล้วด้วย ดังนั้นมันจึงกลายเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า การแข่งขัน E-Sports นั้นช่วยสร้างเงินสะพัดในเมืองที่ไปจัดได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็ก หรือใหญ่

อ้างอิง // Venturebeat, ภาพ ESL

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา