KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 หลักสูตรของสตาร์ทอัพตัวจริง กับการออกแบบผลิตภัณฑ์มาแก้ปัญหาให้ลูกค้า

หลักสูตรสตาร์ทอัพ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 นี้จัดติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว เป็นโครงการที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมมือกับโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ถ่ายทอดสูตรสำเร็จในการทำสตาร์ทอัพระดับโลก โดยใช้หลักสูตรและบุคลากรจาก Silicon Valley พร้อมเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำโดยเมนเทอร์ชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเป็นหลักสูตรสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพ เติบโตอย่างยั่งยืนตั้งแต่พื้นฐาน

KATALYST LAUNCHPAD 2023

ผู้ที่ชนะ 3 อันดับแรกจะได้รับทั้งเงินรางวัลและสิทธิประโยชน์จากพาร์ทเนอร์ของ KATALYST สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ของหลักสูตรทุกคนจะมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อทำธุรกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่มี Prototype แล้ว และมีทีมที่พร้อมจะทำธุรกิจ 

สำหรับปี 2023 นี้มีทีมสตาร์ทอัพสมัครเข้าร่วมทีจำนวนมากกว่า 200 ทีม และมีทีมที่ผ่านเข้าเกณฑ์เข้าเรียนทั้งหมด 62 ทีมจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้าน HealthTech, Enterprise Solutions, ESG-related, FinTech, Artificial Intelligence & Machine Learning, HR Tech, และ EdTech สามารถผ่านหลักสูตรได้ 50 ทีมหรือ 80% ของทั้งหมด โดยทั้ง 50 ทีมนั้น มี 3 อุตสาหกรรมที่มาแรงที่สุดคือ Healthtech ตามด้วย Platform และ Enterprise Solution ตามลำดับ สำหรับวันสุดท้ายในการจัดงานของโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 นี้ ได้รับเกียรติจาก CEO และผู้ก่อตั้ง LINE MAN Wongnai มาเล่าเคล็ดลับเรื่องการปั้นสตาร์ทอัพด้วย

กว่าจะเป็น “LINE MAN Wongnai” สตาร์ทอัพหนึ่งใน Unicorn ของไทย ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ยอด ชินสุภัคกุล (CEO LINE MAN Wongnai) เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง Wongnai ว่ามันเกิดขึ้นในช่วงที่เขาอายุ 27 ปีหรือประมาณ 13 ปีที่แล้วในช่วงปี 2010 เขากับเพื่อนอีก 4 คนร่วมกันก่อตั้งบริษัทขึ้นมา ในช่วงแรกเป็นการทำเว็บไซต์เพื่อให้คนมาช่วยรีวิวร้านอาหาร ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ นั่นคือจุดเริ่มต้น

ยอด ชินสุภัคกุล (CEO LINE MAN Wongnai)
คุณยอด ชินสุภัคกุล (CEO LINE MAN Wongnai)

สาเหตุที่เลือกอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากช่วงก่อนหน้านั้นไปศึกษาปริญญาโทด้าน MBA ที่สหรัฐอเมริกาและได้ลองใช้งานจากเว็บไซต์ Yelp.com ที่มีการรีวิวอาหารและการท่องเที่ยว แต่ในไทยยังไม่มีเว็บไซต์ที่ให้คนเข้ามารีวิวอาหารด้วยตนเอง จึงเห็นโอกาสจากจุดนี้ ความท้าทายในช่วงแรกนั้น ผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว การออกแบบแพลตฟอร์มจะต้องดึงดูดให้คนมาทำคอนเทนต์ ให้คนมารีวิวอาหารบนแพลตฟอร์ม และต้องทำให้คอนเทนต์ดึงดูดผู้คนมากขึ้น 

จากนั้นก็พบว่าช่วงที่มีคนใช้แพลตฟอร์มสูงที่สุดคือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ทำให้คนต้องออกเดินทางนอกกรุงเทพฯ ช่วงนั้นเขาหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Wongnai เรียกได้ว่าเป็นผลกระทบเชิงบวกจาก Network Effect หลังจากที่มีคนใช้งานแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นก็เริ่มทำธุรกิจได้ ช่วงนั้นคุณธนพงษ์ ณ ระนอง ก็มาช่วยทำให้เรารู้จักนักลงทุนมากขึ้นด้วย 

บทเรียนสำคัญสำหรับการทำสตาร์ทอัพ คือการไม่ล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ 

บทเรียนสำคัญในระยะแรกที่ทำสตาร์ทอัพคือความมุ่งมั่นที่จะไม่ล้มเลิกง่ายๆ เพราะถ้าล้มเลิกไปง่ายๆ ก็คงไม่มีวันนี้ คนส่วนใหญ่มักถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ควรล้มเลิก ตอบได้ว่ามันน่าจะป็นความเชื่อ เชื่อในแนวคิดของตัวเอง เชื่อในวิธีคิดของทีม และคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เรายืนหยัดในแนวคิดที่มันถูกต้อง นอกจาก Passion หรือแรงปรารถนาในการลงมือทำแล้ว อาจจะเรียกว่าเป็นการจัดการพลังงานในการลงมือทำ มันคือพลังงานที่มาพร้อมกับแรงปรารถนา ที่มาพร้อมกับความอดทน ความเชื่อ และมาพร้อมกับการสร้างทีม เรียกได้ว่าไม่ได้มีแค่ Passion เท่านั้น แต่มันประกอบด้วยปัจจัยสำคัญหลายเรื่อง

สำหรับเทคนิคการปั้นสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นนั้น เรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ คุณต้องมีตลาดที่ถูกต้อง เราต้องหาให้เจอว่าเราอยู่ในตลาดที่ถูกต้องเหมาะสมกับเราหรือไม่ เมื่อเราทำตลาดอาหารและถือเป็นความโชคดีที่ได้ควบรวมกับ LINE MAN เพราะประเทศไทยมีการบริโภคอาหารสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือต้องมีตลาดรองรับที่ถูกต้อง

นอกจากการจัดวางตำแหน่งตัวเองไว้ในตลาดที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว แม้เราไม่รู้ว่าอนาคตจะมีทิศทางเช่นใด เหมือนกับที่ตอนเริ่มทำ Wongnai ก็ไม่รู้ว่าสมาร์ทโฟนจะมาหรือไม่ เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มจนเรามีความพร้อมพอที่คว้าโอกาสได้เมื่อจังหวะมาถึง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดระบาดเป็นตัวเร่งเครื่องที่ทำให้ Food Delivery เติบโตเร็วขึ้น ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะคว้าโอกาสเมื่อมันมาถึง

ปีนี้ เราเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้น ทั้ง FoodStory และ LINE Pay ซึ่งเป็นทั้งระบบการชำระเงินแบบออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมให้ระบบการชำระเงินของเราแข็งแกร่ง สิ่งสำคัญคือการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ดังนั้น วัฒนธรรม LINE MAN Wongnai จึงมีลักษณะ Inside-out คือการสื่อสารและการมีส่วนร่วมจากภายในองค์กร มากกว่าเป็นลักษณะ Top-down ที่เน้นสื่อสารทางเดียวจากบนลงล่าง เราไม่เน้นให้มีวัฒนธรรมที่ยึดแน่นตายตัว แต่ให้ยึดผลลัพธ์ในการทำงานเป็นหลัก 

KATALYST LAUNCHPAD 2023

10 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบ เทคโนโลยีด้านการแพทย์และ AI มาแรง

สำหรับ 10 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบชิงรางวัลนั้น ประกอบไปด้วย (1) ทีม Tambaan.co ระบบจ้างงานผู้รับเหมา เพื่อแก้ปัญหาการโกงในงานก่อสร้าง (2) ทีม OsseoLabs เทคโนโลยีออกแบบอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดและฝังวัสดุที่เกี่ยวกับโรคกระดูก (3) ทีม PAC Technovation บริการการจัดการพลังงานในอาคารและโรงงาน

(4) ทีม Eyequila นวัตกรรมเกมมือถือช่วยบริหารสายตา ลดอาการตาล้าและความเครียด (5) ทีม MorOnline แพลตฟอร์มพบแพทย์ออนไลน์ (6) ทีม GATI ระบบ Smart Farming ช่วยเกษตรกรตรวจวัดสภาพแวดล้อมในบ่อกุ้ง (7) ทีม Modgut ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์ในลำไส้ เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างแม่นยำเฉพาะบุคคล

(8) ทีม OrderKub ระบบจัดการออเดอร์ร้านค้าออนไลน์ด้วย AI (9) ทีม Preceptor AI แพลตฟอร์มที่ช่วยบุคคลากรแพทย์วินิจฉัยโรคและดูแลคนไข้ โดยใช้เทคโนโลยี AI ที่จะมาแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและ (10) Plant Origin ผลิตภัณฑ์ทดแทนไข่ที่ทำมาจากโปรตีนรำข้าว เพื่อผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานไข่

สำหรับความโดดเด่นของผู้ได้รับชัยชนะ

ทีมที่ได้รับชัยชนะประกอบด้วย 1) ทีม Tambaan.co, 2) ทีม Plant Origin และ 3) ทีม Preceptor AI และรางวัล Sustainable Innovation คือ ทีม Modgut ดังนี้

1) ทีม Tambaan.co ถอดประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยถูกฉ้อโกงจากการรับเหมาก่อสร้าง การันต์ แป้นทอง ผู้มีประสบการณ์ด้านงานก่อสร้างยาวนานถึง 15 ปีได้พยายามแก้ปัญหาของคนที่อยากทำบ้านด้วยการออกแบบระบบจ้างงานผู้รับเหมาแบบครบวงจรเพื่อป้องกันการถูกโกงในงานก่อสร้าง

2) ทีม Plant Origin ทีมนี้คิดผลิตภัณฑ์มาเพื่อแก้ปัญหาคนอยากได้โปรตีนจากการทานไข่ เพราะ ไข่มีคอเลสเตอรอลและไข่มันอิ่มตัวสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจได้ โดยคิดค้นผงทดแทนไข่จากพืช ซึ่งใช้รำข้าวที่เหลือจากการผลิตข้าวแต่ยังมีโปรตีนสูงมาเป็นวัตถุดิบ

3) ทีม Preceptor AI ทีม Preceptor AI คิดโซลูชั่นในการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขด้วยการใช้แชทบอทจากการพัฒนา AI เพื่อช่วยวงการแพทย์ในการวินิจฉัยโรค และยังสามารถให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 

4) ทีม Modgut ชนะรางวัล Sustainable Innovation ทีมนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญ การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ เพื่อการดูแลสุขภาพแบบแม่นยำ เฉพาะบุคคล เพื่อแก้ปัญหา การเจ็บป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่อให้คนไทยกลับมามีสุขภาพดี ทานอาหาร (ให้เหมาะกับ จุลินทรีย์ในตัวของเรา) เป็นยา แทนที่จะต้องป่วย แล้วทานยาเป็นอาหาร

มุมมองจาก Beacon VC: ศักยภาพในงานที่น่าสนใจและทิศทางการพัฒนาในอนาคต

คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) ให้ความเห็นเรื่องศักยภาพของสตาร์ทอัพในงานปัจจุบันนั้นแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีองค์ประกอบที่ต่างกัน ปีนี้มีเรื่อง ESG เรื่อง Deep Tech และ AI มากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ที่ทั่วโลกเขากำลังมุ่งไป ก่อนหน้านั้นมักจะเจอกลุ่ม Travel Tech, E-Commerce หรือพวก Matching แต่ 2 ปีหลังนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ เป็นการทำสตาร์ทอัพที่มองถึงความต้องการในอนาคต ปีนี้ถือว่าเราบรรลุเป้าหมายที่พยายามให้สตาร์ทอัพได้ทำอะไรใหม่ๆ ส่วนหนึ่งก็มีแง่มุมที่สร้างความยั่งยืนด้วย เพราะว่าตลาดที่ไม่ได้มีการแข่งขันเยอะก็จะทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

KATALYST LAUNCHPAD 2023
คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี)

สำหรับความท้าทายที่สตาร์ทอัพต้องรับมือให้ได้เพื่อขยายศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้นนั้น อย่างที่ยอด ชินสุภัคกุลจาก LINE MAN Wongnai พูด ยอดถือเป็นสตาร์ทอัพลำดับต้นๆ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำอะไรทำจริง อย่างที่เขาพูดก็คือต้องเริ่มต้นจากตลาด อย่างทีมสตาร์ทอัพที่เข้ามานั้นมีเรื่อง Health Tech (เทคโนโลยีด้านสุขภาพ การแพทย์) เช่นทีม Modgut นั่นก็เป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

ความโดดเด่นของทีมผู้ชนะวันนี้ คือการทำเรื่องใหม่ เน้นตอบสนองความต้องการของตลาดจริง

สำหรับ 3 ทีมที่ชนะวันนี้ ความโดดเด่นคือผลิตภัณฑ์ที่เขาออกแบบ เป็นเรื่องใหม่และมีความต้องการของตลาดจริง อย่างทีม Tambaan.co ได้คะแนนทำงานเกือบเต็ม มีความมุ่งมั่น มี Passion ในการทำสตาร์ทอัพ ทำการบ้านส่งตลอด ตอบโจทย์คนสร้างบ้านแล้วมีปัญหากับผู้รับเหมา เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักต้องเผชิญ หรือทีม Plant Origin ที่ผลิตผงทดแทนไข่ คนจำนวนมากอยากบริโภคโปรตีนจากไข่ แต่กลัวคอเลสเตอรอลหรือผลกระทบเชิงลบที่มาจากการทานไข่ เรื่องนี้ก็มาช่วยแก้โจทย์ตรงนี้ได้ 

KATALYST LAUNCHPAD 2023

ทีม Preceptor AI ก็เป็นเรื่องใหม่เหมือนกันที่เอา AI มาช่วยคุณหมอหรือบุคคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัยโรค เหล่านี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ 

KATALYST LAUNCHPAD 2023

ขณะที่ทีม Modgut หลายคนทานโพรไบโอติกส์ แต่เราไม่รู้หรอกว่าที่เราทานไป เรามีจุลินทรีย์เหล่านั้นอยู่ในร่างกายอยู่แล้วหรือเปล่า การมีคนทำเทสต์ให้ว่าเราขาดจุลินทรีย์ตัวไหนอยู่ มันเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงเมื่อร่างกายเกิดปัญหา กลุ่มนี้จึงได้รับรางวัลด้าน Sustainablity ในการเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพที่ดีให้คนไทย ซึ่งต่อไปก็เป็นเรื่องสำคัญ การเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีก็เป็นหนึ่งในตัว S อยู่แล้ว

KATALYST LAUNCHPAD 2023

สำหรับการสนับสนุนนั้น เราให้ความช่วยเหลือในภาพรวมอยู่แล้ว เนื่องจาก ESG เป็นเรื่องใหม่และ Beacon VC เองก็ตั้งกองทุน Beacon Impact Fund ขึ้นมาสนับสนุนด้วย ทาง KBank ก็มีนโยบายที่ช่วยผลักดัน ESG เต็มรูปแบบหลายเรื่องมาก ดังนั้น จากนี้ ก็จะมีกิจกรรมอย่างอื่นตามมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ เรายังมี Climate Tech Club นี่ก็จะมาช่วยผลักดันในการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วย

KATALYST LAUNCHPAD 2023
คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี)

ทางทีมงานจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็เน้นให้การบ้านเยอะ เขาให้สตาร์ทอัพที่เข้าโครงการ ออกไปหาลูกค้าจริง เหมือนกับที่ยอดพูดไว้ก่อนหน้า เราต้องคอยสำรวจว่าเราอยู่ในตลาดที่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทำน้อยมาก สตาร์ทอัพไทยที่ผ่านมา เห็นโมเดลความสำเร็จจากต่างประเทศก็จะมาทำเลย รู้สึกว่าดูดี ดูเท่ห์ แต่ไม่ได้คุยกับตลาดในไทยว่าดีหรือไม่ดี แต่ปัจจุบันต้องรู้ว่าตลาดต้องการอะไร ต้องตอบสนองตลาดให้ถูก ดังนั้น สแตนฟอร์ดเน้นให้การบ้านที่หนัก เขาให้ออกไปคุยกับลูกค้า มีจำนวนเท่าไร ต้องไปคุยมาว่า ลูกค้ากำลังต้องการสิ่งที่เราจะนำเสนอจริงหรือปล่า ถ้าใครผ่านหลักสูตรสแตนฟอร์ดและได้ออกไปสำรวจตลาด โอกาสจะล้มเหลวนั้นมีน้อย 

สำหรับเคล็ดลับในการปั้นสตาร์ทอัพให้โดดเด่น น่าสนใจ และเติบโต จะต้องมีปัจจัยใดส่งเสริมบ้างนั้น ทางทีม Beacon VC หรือโครงการ KATALYST เราเองค่อนข้างโชคดีที่มีพาร์ทเนอร์ดี เราทำจริงจังมากกว่าทำเพื่อ Branding เราจึงได้คนที่มาสมัครเข้าโครงการที่มีคุณภาพดี เราสามารถคัดกรองได้ ทีมที่มานำเสนอก็ระดับเกรด A ทั้งนั้น เป็นโอกาสดีที่เราได้เจอระดับนี้ครีมของโครงการ แล้วเราก็มาประเมินอีกทีว่าของดี ราคาเหมาะสมไหม ถ้าถูกต้องหมดทุกอย่างก็ร่วมลงทุนด้วย 

สำหรับอนาคตธุรกิจสตาร์ทอัพจะมีทิศทางแบบไหน โครงการ KATALYST จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ คิดว่าการพัฒนาแอพพลิเคชันง่ายๆ เช่น การ Matching กลุ่ม Travel Tech ไม่มีช่องว่างทางตลาดให้เล่นแล้ว คิดว่าน่าจะมีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้น น่าจะตรงความต้องการของ Venture Capital อยู่แล้ว เราต้องการสิ่งใหม่ ทำรายได้ และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง KATALYST จะมีต่อไป แต่รูปแบบจะปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม เพราะเราทำเรื่องนวัตกรรม เราพยายามปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับยุคสมัยและเทคโนโลยีต่างๆ ต้องทำเรื่องใหม่ๆ เน้นคุณภาพ 

ปีนี้คือภาพสะท้อนคนทำงานจริง มีข้อมูลการพัฒนาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน

คุณเชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร Managing Director, KBTG Labs มองว่า ปีนี้มี Deep Science มาก Passion มีทุกปีอยู่ละ แต่ปีนี้เน้นคนทำงานจริง มีวิทยาศาสตร์รองรับเบื้องหลัง ปีที่แล้วสตาร์ทอัพมีทั้ง Idea Base, Concept Base แต่ปีนี้ทำได้รอบด้านมากขึ้น แต่ละรายต่างก็หารายได้ได้จริง สิ่งที่เห็นชัดก็คือแพลตฟอร์มเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และยังมีการนำ AI มาช่วย ถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์

KATALYST LAUNCHPAD 2023
คุณเชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร Managing Director, KBTG Labs

สาเหตุที่ Health Tech มาเยอะในปีนี้ เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ชัดเจน คนมีความยินดีที่จะจ่ายจริง เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่คนยินดีที่จะจ่าย มีการคิดผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นแบบ B2C เยอะมาก การเปลี่ยนผู้บริโภคที่จากใช้ฟรีไปเป็นจ่ายเงิน ไม่ใช่เรื่องง่าย ธุรกิจไหนมีความยินดีที่จะจ่ายจริงและโซลูชั่นที่ทำออกมา ช่วยเขาทำรายได้มากขึ้น ประหยัดต้นทุนมากขึ้น ก็คุ้มค่าที่จะจ่าย

จากประสบการณ์ที่ตัดสินมาทั้ง 2 ปี ที่เห็นได้ชัดเจน คือเราเน้นเรื่อง ESG มากขึ้น มีเรื่องนี้อยู่ในทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญมากขึ้น KBank เองก็เป็นผู้บุกเบิกเรื่องนี้ด้วย ESG ก็เป็นแกนที่ให้ความสำคัญมากขึ้น อีกข้อหนึ่งคือเราเน้นไปลึกขึ้น ไม่ใช่แค่ Idea Concept แล้ว แต่เข้าหาตลาดด้วย เน้นเรื่องที่สร้างรายได้จริง เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

ส่วนความโดดเด่นของทีมสตาร์ทอัพที่เข้ารอบคัดเลือกนั้น นอกจากการนำ AI และ Deep Tech มาใช้แล้ว ยังเป็น Deep Science ด้วย มันมีวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลังที่ต้องใช้การวิจัยและพัฒนา คือเป็นการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่นำมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหา และเป็นสิ่งที่คนคิดจะลอกเลียนแบบเพื่อนำไปทำต่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ใช่แค่จับอะไรตามกระแส แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากภูมิปัญญา การจากการวิจัย หรือมีการทำ Deep Research จริงๆ เป็นสิ่งที่ชอบและประทับใจ หลาย ทีมมีสถาบันหรือหน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยและทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานด้วย มีความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์อยู่มาก ไม่ได้เอาเรื่องเชิงพาณิชย์มานำตั้งแต่แรก 

ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ได้ยินครั้งแรก ไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่บางเรื่องมันใหม่เป็นระดับนานาชาติได้เลย หลายอย่างพิสูจน์ว่ามันทำสำเร็จกับตลาดในไทย ก็อาจจะส่งออกไปต่างประเทศได้

ซึ่งการพัฒนาสตาร์ทอัพให้กลายเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีไปต่างประเทศได้ เขามองว่า สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและมหาวิทยาลัยในการร่วมทำวิจัยและพัฒนาด้วยกัน ซึ่งการทำวิจัยร่วมกันมันมีเวลาให้ลองผิดลองถูก มีโอกาสที่จะล้มเหลวและพัฒนาขึ้นใหม่ได้โดยไม่มีกรอบเวลามาเป็นตัวจำกัด หากเราขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดเชิงพาณิชย์ มันมีเงินทุนและเวลาที่จำกัด ต้องพิสูจน์ตัวเองให้นักลงทุนเห็น ก็ไม่แปลกที่อยากจะทำอะไรในระยะสั้นมากกว่า

หลายโซลูชั่นที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมานั้น มีวิทยาศาสตร์และงานวิจัยรองรับ เราจะเห็นว่าเขามีหุ้นส่วนเชิงพาณิชย์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือบริษัทเอกชนต่างๆ จะเข้ามาคัดสรรเทคโนโลยีเพื่อนำไปทดลองใช้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยก็พร้อมที่จะสนับสนุน พร้อมช่วยเหลือ มาช่วยกันทำ Prototype (ตัวจำลองต้นแบบ) เพื่อให้ไปเทสต์กับลูกค้า นี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สตาร์ทอัพมีทั้งหน่วยงานที่ร่วมทำงานคิดค้นพัฒนาวิจัย ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็พร้อมเปิดโอกาสให้นำผลิตภัณฑ์นั้นไปทดลองใช้จริงกับผู้บริโภคต่อ ทำให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหล่านี้สร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพสามารถทำสิ่งยากให้สำเร็จได้

คุยกับทีมผู้ชนะ Tambaan.co: ระบบการจ้างงานผู้รับเหมา เพื่อแก้ปัญหาการโกงในงานก่อสร้าง

ทีม Tambaan.co เล่าว่าการเข้าโครงการ KATALYST นี้ถือว่ามีการบ้านค่อนข้างแน่น เป็นโครงการที่ต้องให้บริการลูกค้าไปพร้อมกับแบ่งเวลามาเรียนด้วย ซึ่งก็มีการแบ่งงานกับน้องในทีม น้องเข้าเรียนและส่งต่องานได้ง่ายขึ้น ทำให้ทีมงานเข้าใจผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น และถือเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่เคยเข้าโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีข้อมูลผลิตภัณฑ์มาอัพเดตในโครงการ KATALYST

KATALYST LAUNCHPAD 2023

สิ่งสำคัญสำหรับการเข้าโครงการ KATALYST คือเขาจะเน้นไปที่ลูกค้า ที่ผ่านมาก็ทำ MVP (Minimum Viable Product กลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้าหรือบริการนั้นๆ) ทำเพื่อทดสอบว่าลูกค้าสนใจใช้บริการกับเรามากน้อยแค่ไหน แต่ทางโครงการ KATALYST จะฝึกให้มองไปที่โครงสร้าง ว่าจุดไหนที่เราโดดเด่นเพื่อยืนยันหลักการว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว

KATALYST เป็นหลักสูตรที่ทำให้เรายืนยันตัวเอง มีหลักการในการยืนยันลูกค้า ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าเรามาถูกทาง ดีใจมากที่มีมาตรฐานสากลมาช่วยยืนยันการทำงานของเราด้วย จุดเด่นของ KATALYST ถ้าเทียบกับโครงการอื่นคือ โครงการอื่นจะมีการออกไปเรียนและจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มา แต่สอนแล้วจบเลย แต่โครงการ KATALYST จะมีหลักสูตรให้เดินไปตามขั้นตอน ให้เราค่อยๆ ใส่ข้อมูลไปเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายการ Pitching วันนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากตลอดหลักสูตรทั้ง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการ Feedback ทุกสัปดาห์ว่าแต่ละจุดเราต้องปรับอย่างไร มีการแก้ไข อัพเดตอย่างต่อเนื่องมาสม่ำเสมอ และที่สำคัญโครงการ KATALYST เขาจะมีระบบให้คะแนน มันทำให้เราอยากทำการบ้านทุกสัปดาห์เพื่อวัดตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อจะหาทางรักษาระดับให้ได้ 

ความท้าทายของการทำสื่อ Spacestory.me และการทำ Tambaan.co ต่างกันอย่างไร

ความท้าทายของการทำ Tambaan.co มันคือ B2C (Business to Customer) การรับมือลูกค้าต่างๆ ทำให้เราเข้าใจเพราะเคยเป็นลูกค้ามาก่อน ขณะที่ฝั่ง Media SpaceStory.me เป็น B2B (Business to Business) เราต้องร่วมงานกับอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ซึ่งระบบหลังบ้านเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่งเลย ค่อนข้างท้าทายอีกแบบ แต่การทำ Tambaan.co ช่วยให้คนที่อยากมีบ้านในฝันได้มีบ้านได้จริงๆ ในราคาที่เป็นธรรม ลดความเสี่ยงการมีปัญหากับผู้รับเหมา คือเรามีเป้าหมายของเรา ทำให้สิ่งที่เราทำมีคุณค่า ซึ่งการทำสื่ออสังหาริมทรัพย์มันเชื่อมต่อ ส่งเสริมกัน นอกจากการทำสื่อภายใต้ชื่อ Space Story, AI Space Story ยังมี Tom Creative Studio (เป็นโปรดักชั่น) ตอนนี้ก็ใช้ทุนจากสื่อมาปั้นสตาร์ทอัพ Tambaan.co

ข้อคิดทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากทำสตาร์ทอัพ

การทำสตาร์ทอัพเราจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าเรามีเป้าหมายอะไร ทำเพื่ออะไร คุณค่าของมันคืออะไร ถ้าทำโดยยึดถือคุณค่าของสิ่งที่ทำ จะทำได้นาน แต่ถ้าทำแบบเห็นโอกาสว่าน่าจะรวยไว มันจะคนละอารมณ์กัน ถ้าทำด้วยเป้าหมายว่าอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะมีไฟในการลงมือทำตลอด ตั้งแต่ทำมาก็ไม่เคย Burnout เลย

สรุป

ทิศทางการทำสตาร์ทอัพภายใต้โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ในปี 2023 นี้ถือว่าพัฒนาจากเดิมไปได้ไกลมาก มากกว่า Idea Base แต่เป็นการปั้นสตาร์ทอัพที่ผ่านการคิดมาดีแล้วว่า จะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาให้คนในสังคมได้ ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์แค่เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นทิศทางของประเทศและประชาคมโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว 

การคิดโซลูชั่นเพื่อพัฒนาและวิจัยในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงไม่ได้จำกัดกรอบแค่แง่มุมด้านธุรกิจอีกต่อไป แต่สามารถประยุกต์แนวคิดด้านการแพทย์ เทคโนโลยี AI เข้าไว้ด้วยกัน และในที่สุดก็สามารถผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน แก้ปัญหาทั้งบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน การดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่ร่างกายจะป่วยหนัก ไปจนถึงการแก้ปัญหาและทำความฝันของคนในสังคมให้เป็นจริงผ่านโซลูชั่นในการแก้ปัญหาเรื่องผู้รับเหมาก่อสร้างและการมีบ้านในฝันตามที่ตั้งใจ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่การคิดค้นที่จำกัดกลุ่มแคบๆ หรือกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเดิมอีกต่อไป แต่สามารถขยายไปไกลในระดับโลกและอาจทำให้กลายเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีได้ในระยะเวลาอันใกล้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา