ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองกลุ่มแบงก์ปี 2021 จับตาผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่ คาดกำไรโตแค่ 3-7% เท่านั้น

คาดการณ์กลุ่มธนาคารจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยนั้นมองว่ายังมีความท้าทายจากผลกระทบของ COVID-19 ระบาดรอบใหม่ ขณะเดียวกันยังมีแรงกดดันจากการจัดการหนี้เสียของธนาคาร ทำให้คาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารไทยจะเติบโต 3-7% เท่านั้น

ATM เอทีเอ็ม ธนาคารไทย
ธนาคารไทยปี 2564 ถือเป็นปีที่ลำบากอีกปี จากผลกระทบของ COVID-19 – ภาพจาก Shutterstock

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธนาคารไทยในปี 2021 จะเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่อง แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังต้องจับตามองถึงการแพร่ะระบาดรอบใหม่ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มธนาคารไทยต้องเผชิญความท้าทายมากกว่าเดิมจากสภาวะเศรษฐกิจ พอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ รวมไปถึงการจัดการปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินเหล่านี้

ความท้าทายหลักๆ ของกลุ่มธนาคารไทยปี 2021

  1. สินเชื่อเติบโตในกรอบจำกัดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังมีความเสี่ยงจาก COVID-19 รอบใหม่แฝงอยู่ อาจส่งผลทำให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการระยะยาวออกไปก่อน ดังนั้นความต้องการสินเชื่อจากฝั่งผู้ประกอบการในระยะแรก คงจะเน้นไปที่สินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ มากกว่าการขอสินเชื่อใหม่เพื่อการลงทุน โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตราวๆ 3-4.5%
  2. รายได้หลักจากดอกเบี้ยชะลอตัวลงตามทิศทางของสินเชื่อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินให้สินเชื่อน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในที่สุด อย่างไรก็ดีคาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะยังชะลอการออกแคมเปญ
    ไม่เร่งระดมเงินฝาก เพื่อพยายามบริหารจัดการต้นทุนด้านเงินฝาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า NIM ในปี 2021 อาจชะลอตัวลงมาที่ 2.65-2.75%
  3. ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังไม่ฟื้นตัวกลับมา คาดว่าข้อจำกัดของบรรยากาศเศรษฐกิจซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ระหว่างหาแนวทางเพิ่มรายได้จากแหล่งอื่นทดแทนรายได้ที่หายไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการอาจหดตัวเล็กน้อยในปีหน้าอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ -3% จนถึง 1%

ขณะเดียวกัน ปี 2021 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องรับมือกับโจทย์สำคัญนั่นก็คือเรื่องคุณภาพหนี้ ซึ่งเป็นผล
กระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอและฟื้นตัวช้า โดยนอกจากภารกิจในการติดตามดูแลความสามารถในการชำระหนี้ (กลุ่มที่ออกจากโครงการช่วยเหลือในปี 2020) และให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องกับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะยังให้น้ำหนักกับการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ตั้งสำรองฯ) เพื่อรองรับสถานการณ์หนี้เสียที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยมองว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อจะอยู่ที่ราวๆ 1.55% ขณะที่ NPL ของธนาคารไทยจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 3.53%

ทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารไทยตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจบันทึกกำไรสุทธิในปี 2021 ที่ระดับ 1.48-1.54 แสนล้านบาท ขยับขึ้น 3.0-7.0% เมื่อเทียบกับฐานระดับกำไรสุทธิที่ต่ำของปี 2020 ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 รวมกับมีแรงหนุนจากการชะลอลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เร่งกันสำรองฯ ไปมากแล้วในปีนี้

นอกจากนี้ในปี 2564 ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
และยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ด้วยเช่นกัน

สำหรับคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยทั้งหมดนั้นอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2021 จะเติบโตที่ 2.6%

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ