ศูนย์วิจัยกสิกรไทย: รัฐบาลกู้เพิ่ม แม้กระทบสภาพคล่อง แต่ยังอยู่ในระดับจัดการได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยบทวิเคราะห์ การกู้ของรัฐบาลเพิ่มต่อเนื่องในปี 2565-2566 กระทบต่อสภาพคล่อง แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดย ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณปี 2566 เมื่อ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนว่ารัฐบาลไทยยังทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องในปี 2566 ที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากยอดขาดดุลประมาณ 7.0 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

Thai debt

ยอดคงค้างหนี้มีโอกาสแตะระดับ 9.90 ล้านล้านบาทหรือขยับขึ้นราว 1.50 ล้านล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ระดับการขาดดุลดังกล่าวยังอยู่สูงกว่าในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และจะมีผลต่อแผนก่อหนี้ของภาครัฐช่วงไตรมาส 4/ 2565 ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ในประเทศของภาครัฐในปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9.90 ล้านล้านบาท หรือขยับขึ้นประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทจากยอดคงค้างฯ ในปี 2564 จำนวนนี้หลักๆ น่าจะเป็นการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคงคลังมากขึ้น

ผลกระทบสภาพคล่องตลาดพันธบัตรไทย

ส่วนเรื่องผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรไทย คาดว่าอยู่ในวงจำกัด แบงก์ชาติจะปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรแบงก์ชาติปี 2565 ลง และไถ่ถอนพันธบัตรบางส่วน จะส่งผลให้ยอดคงค้างพันธบัตรของแบงก์ชาติมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีก 0.55 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 2.38 ล้านล้านบาท ช่วยปล่อยสภาพคล่องคืนสู่ตลาดและเปิดพื้นที่ให้ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจขยับขึ้นในปี 2565 จาก 2 ปัจจัย คือ ทิศทางขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ภาครัฐมีแผนจะออกเพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีและอายุ 10 ปีของไทยอาจขยับสูงขึ้นแตะ 0.80% และ 2.20% จากระดับ 0.66% และ 1.90% ณ สิ้นปี 2564 ตามลำดับ การขยับสูงขึ้นต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีผลกระทบต่อเนื่องยังงบกำไรขาดทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้น่าจะมียอดคงค้างรวมราว 2.4 ล้านล้านบาท

Thai Baht Roll เงินบาท
ภาพจาก Shutterstock

ผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ยังน่าจะทรงตัวระดับสูง มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าการปรับขึ้นอาจไม่สูงเท่ากับปี 2564 เนื่องจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจเติบโตในกรอบที่จำกัด ขณะที่สถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อ น่าจะทำให้ยังคงมีการกอดสภาพคล่องในรูปเงินฝากอยู่ ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังไม่รีบระดมเงินฝากโดยเฉพาะครึ่งแรกของปี 2565

จุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางสภาพคล่องจะอยู่ที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจต้องระวังการเปลี่ยนทิศมาเป็นฝั่งไหลออก โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2/2565 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE และเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มมากขึ้น ด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

คาดว่า กนง. มีแนวโน้มยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ต้องติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายและความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดอย่างใกล้ชิด อาจส่งผลต่อความเสี่ยงต่อกระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่แรงกดดันต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 อย่างเร็ว หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเริ่มขยับขึ้นจริงจะส่งผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม โดยเฉพาะดอกเบี้ยประจำ 3-12 เดือน และ MLR ซึ่งจะเป็นบวกต่อ NIM ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา