บริษัท Kanzhun เจ้าของแอปหางานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอย่าง Boss Zhipin กำลังจะเปิด IPO หวังระดมทุนกว่า 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 28,450 ล้านบาท) ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา
แอปหางานจีนที่มี Tencent หนุนหลังเตรียม IPO ระดมทุนเกือบ 3 หมื่นล้าน
ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ชะลอ IPO ของตนเองออกไปก่อน Kanzhun เป็นบริษัทจีนที่มี Tencent เป็นนักลงทุนรายใหญ่คอยสนับสนุนอยู่ ประกาศราคาเสนอขาย IPO ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ โดยมีสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Goldman Sachs Group, Morgan Stanley และ UBS Group AG เป็นผู้นำในการลงทุน
Kanzhun ประกาศเสนอขายหุ้น American Depositary Shares (ADS)
- จำนวน 48 ล้านหุ้น หุ้นละ 17-19 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 530-593 บาท)
- หุ้น ADS 1 หุ้นจะเท่ากับหุ้นสามัญจำนวน 2 หุ้น
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Kanzhun จะระดมเงินได้ตั้งแต่ 816 ถึง 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 25,450 – 28,500 ล้านบาท) ซึ่งจำนวนสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับราคาเสนอขายจริง
บริษัทสัญชาติจีนบางบริษัทที่ได้ส่งข้อมูล IPO ไปให้ U.S. Securities and Exchange Commission แล้ว ขอเลื่อนการเสนอขายหุ้นออกไปก่อน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มเกรงว่าบริษัทที่โตเร็วไปจะมีผลตอบแทนที่ไม่ดีพอ เช่น บริษัทประกันภัยจากจีน Waterdrop Inc. ที่ได้ IPO ไปเมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นตกไปแล้วกว่า 30%
รู้จักกับ Kanzhun บริษัทเจ้าของแอปหางานรายใหญ่ของจีน
Kanzhun คือบริษัทแม่ของแอปพลิเคชั่นหางานชื่อดังในจีนอย่าง Boss Zhipin มีผู้ใช้รายเดือนมากถึง 24.9 ล้านคนในไตรมาส 1 ของปี 2021 เติบโตถึง 72% จาก 14.5 ล้านคนของปีที่แล้ว
ความน่าสนใจคือ Kanzhun ทำรายได้พุ่งกว่า 180% เป็น 788.5 ล้านหยวน (ประมาณ 3.84 พันล้านบาท) จาก 282.6 (ประมาณ 1.37 พันล้านบาท) ล้านหยวนในปี 2020
แม้จะเติบโตมาก แต่ Kanzhun ก็ยังขาดทุนอยู่
เปิดงบการเงินดูพบว่าไตรมาส 1 ของปี 2021
- Kanzhun ขาดทุนสุทธิที่ 176.2 ล้านหยวน (ประมาณ 859 ล้านบาท) ขาดทุนน้อยลง 36.8% จาก 278.8 ล้านหยวน (ประมาณ 1.36 พันล้านบาท) ในปี 2020
ในเมื่อรายได้เติบโตเกือบ 200% แต่ยังขาดทุน ในแง่ธุรกิจถือว่าไปต่อได้ เพียงแต่ต้องมีเงินทุนมาสนับสนุน การประกาศเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนจึงถือเป็นก้าวที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม บริษัท Kanzhun วางแผนใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ในการออกแบบโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technology Infrastructure) และด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา