กันตนา รุกธุรกิจเกมเต็มตัว เปิดสตูดิโอ ทำทีมอีสปอร์ต รับจัดงานแข่ง ต่อยอดความเชี่ยวชาญแอนิเมชัน

กันตนา เดินหน้ารุกธุรกิจเกมครบวงจรหลังปูพรมมา 5 ปี ครอบคลุมค่ายพัฒนาเกมที่ต่อยอดจากทีมแอนิเมชัน, ทีมแข่งขันอีสปอร์ต, การพัฒนารายการ และการจัดงาน รวมถึงการแข่งขันเกี่ยวกับเกม หวังดันนักพัฒนาเกมไทยก้าวไกลสู่ระดับโลกผ่านเวทีจับคู่ธุรกิจ ย้ำเกมยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำตลาดของแบรนด์

กันตนา
ศตวรรษ อินทรายุธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง ออฟ เกมเมอร์ส คลับ จํากัด หน่วยธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ และอีสปอร์ต ของ บมจ. กันตนา

กันตนา กับการรุกตลาดเกมครบวงจร

ศตวรรษ อินทรายุธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง ออฟ เกมเมอร์ส คลับ จํากัด หน่วยธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ และอีสปอร์ต ของ บมจ. กันตนา เล่าให้ฟังว่า หลังจากปูพรมธุรกิจเกี่ยวกับเกมมาเป็นเวลา 5 ปี ทางบริษัทเตรียมยกระดับการทำธุรกิจเกี่ยวกับเกมให้ครบวงจรมากขึ้นเพื่อเป็นอีกธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กลุ่มกันตนาได้ในอนาคต

“จาก 5 ปีที่แล้วที่เริ่มทำรายการทีวี King of Gamers เพื่อหาผู้เล่น ROV ผ่านการแข่งขัน และได้ทีมในชื่อเดียวกันมาลงแข่งใน ROV Pro League ตอนนี้เราได้ยกระดับธุรกิจเกี่ยวกับเกมให้ครบ 360 องศา หรือตั้งแต่ทำรายการทีวี, ทำทีมอีสปอร์ต, รับจัดการแข่งขัน และงานเกี่ยวกับเกม รวมถึงการเปิดสตูดิโอพัฒนาเกมขึ้นมาเองด้วย”

ทั้งหมดจะดำเนินการโดยมี True 5G Pro Hub ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นพื้นที่กลางทั้งการซ้อมทีม, การจัดการแข่งขัน รวมถึงการจัดงานเกี่ยวกับเกม และทำรายการความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสถานที่นี้ยังรองรับคนนอกที่ต้องการเข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ต และเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อสร้างรายได้อีกทาง

หากเจาะไปที่การจัดงาน บริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และเอกชนในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านอีสปอร์ตแก่นักเรียนชั้นมัธยมปลายเพื่อสร้างบุคลากรมีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรม รวมถึงงานแข่งขันอีสปอร์ตที่บริษัทจัดให้ทั้งกลุ่มทรู และบริษัทต่างชาติอย่าง Afreeca TV จากเกาหลีใต้

กันตนา

มากกว่าแค่จัดงานคือการพัฒนาเกม

ด้วยกันตนามีธุรกิจเกี่ยวกับการรับทำอีเวนต์ทำให้การต่อยอดในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตไม่ยาก แต่บริษัทต้องการบุกตลาดเกมเต็มกำลังจึงมีการนำส่วนธุรกิจแอนิเมชันมาต่อยอดเป็นสตูดิโอพัฒนาเกม เช่น ปี 2023 เริ่มให้บริการ Virtual Experience Production เพื่อรับบริการสร้างเกมในโลกเสมือนให้กับบริษัทที่สนใจ

ทั้งมีการจัดตั้ง DEV:A Studio ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเกมออนไลน์เพื่อรุกตลาด Metaverse มีผลงานแรกคือ เกมก้านกล้วย The Adventure of Friendship ใน The Sandbox และได้อันดับ 1 เกมบนแพลตฟอร์มดังกล่าวในแง่จำนวนผู้เล่นที่เล่นจนจบเกม (Compleation Rate)

“หลังจากนี้เรามีแผนที่จะพัฒนาเกมลงเครื่องคอนโซล และอยู่ระหว่างหานักลงทุนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว และมองว่านักพัฒนาไทยเก่ง ๆ เยอะ ถ้าทำให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางของสตูดิโอเกมใหญ่ ๆ ก็คงดี คล้ายกับ Ubisoft ที่ในสำนักงานในหลายประเทศ เพราะถ้าให้คนไทยทำเกมระดับ AAA มันคงเป็นเรื่องยาก”

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างอาศัยความเชี่ยวชาญในการจับคู่ธุรกิจสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ในต่างประเทศ เช่น ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเกม และแอนิเมชัน เพื่อพาบริษัทไทยไปจับคู่ธุรกิจในงานเกมระดับโลก เช่น G Star และ Tokyo Game Show

ROV

ตลาดเกมมันใหญ่ แต่อีสปอร์ตมันเล็ก

กลับมาที่วงการเกมในประเทศไทย ศตวรรษ มองว่า ภาพรวมตลาดเกมในประเทศไทยค่อนข้างใหญ่ ผ่านฐานผู้เล่นที่เยอะ และมีการจับจ่ายเติบโตต่อเนื่อง แต่ในมุมอีสปอร์ตนั้นอาจจะดูค่อนข้างเล็ก ผ่านแบรนด์ที่เริ่มมองอีสปอร์ตเป็นเพียงเครื่องมือสร้างแบรนด์ ไม่สามารถให้ผลในด้านยอดขาย หรือด้านอื่น ๆ กลับมาได้

“ทีม และการแข่งขันอีสปอร์ตมันอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ เพราะแค่เงินรางวัลจากการแข่งขันก็คงไม่พอ แต่ตอนนี้ผู้สนับสนุนเริ่มเข้าใจแล้วว่าลงทุนกับเรื่องนี้ได้แค่ Branding ไม่ได้ Conversion เป็นยอดขาย เมื่อเป้าหมายของบริษัทใหญ่ทั้งระดับโลก และในไทยคือยอดขาย การที่อีสปอร์ตไปขายแค่เรื่อง Branding ก็คงไม่ได้”

ศตวรรษ ยกตัวอย่างการลงเงินสนับสนุนทีมอีสปอร์ตในประเทศไทยที่อยู่ราว 3-5 ล้านบาท นั้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ และบริษัทใหญ่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จึงไม่แปลกที่ทีมอีสปอร์ตจะดำเนินธุรกิจด้วย Passion มากกว่าการทำให้มันมีกำไรเกิดขึ้น กล่าวคืออาจมีธุรกิจอื่นอยู่แล้ว และเอาส่วนต่างจากธุรกิจนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำทีม

“ตอนนี้รายได้นักกีฬาอีสปอร์ตของไทยค่อนข้างสูง ผู้เล่นระดับท็อปมีค่าเหนื่อยมากกว่าหลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งผมมองว่ามันเยอะไป โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับผู้เล่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ผู้เล่นอีสปอร์ตในไทยมีค่าเหนื่อยที่สูงที่สุดในภูมิภาคก็ว่าได้”

Thailand International Game Showcase 2024
ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

จับมือภาครัฐจัดงานกระตุ้นตลาดเกม

ล่าสุด กันตนา ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน Thailand International Game Showcase 2024 โดย ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Soft Power และได้ดำเนินการ ในหลากหลายแนวทาง

อาทิ สนับสนุนการผลิตผลงาน เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมการเผยแพร่ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านกิจกรรมและช่องทางต่าง ๆ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนานาชาติ เป็นที่มาของการจัดงานดังกล่าวระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 ณ ไอคอนสยาม

“คาดหวังว่าจะมีคนในอุตสาหกรรมเกม ผู้ประกอบการ ผู้สนใจ และประชาชนเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 50,000 คน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท และมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมเกมของประเทศไทยได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน”

สำหรับ กันตนา ในปี 2023 อ้างอิงข้อมูลรายงานประจำปีของบริษัทพบว่า มีรายได้รวม 709 ล้านบาท ลดลงจากปี 2022 ที่ทำได้ 796 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • รายได้จากการขายเวลาโฆษณา 87 ล้านบาท
  • รายได้จากการรับจ้างผลิตรายการ 206 ล้านบาท
  • รายได้จากการให้บริการ 315 ล้านบาท
  • รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์ และบริการอื่น 55 ล้านบาท
  • รายได้จากค่าเช่า 4 ล้านบาท
  • รายได้อื่น 40 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปี 2023 กันตนา ขาดทุนสุทธิ 188 ล้านบาท หนักกว่าปี 2022 ที่ขาดทุนสุทธิ 67 ล้านบาท โดยปี 2024 กันตนา เนินธุรกิจผ่าน 3 แกนหลักคือ ธุรกิจคอนเทนต์, ธุรกิจโปรดักชั่นเซอร์วิส และธุรกิจเอ็ดดูเคชั่น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา