กว่าจะปั้นธุรกิจพันล้านที่มีคนร้องเพลงตามเราทั่วเมืองแบบ “คานิว่า คานิว่า อาหารแมวโซเดียมต่ำ” ได้ คุณคิดว่าเส้นทางของเขาเป็นอย่างไร ฟังเรื่องราวของ Kaniva จากเจ้าของร้าน Pet Shop สู่อาหารแมวหมา 1,600 ล้าน จากปากของ ‘จารุวัฒน์ เลาหวิศิษฐ์’ กรรมการบริหาร บริษัท เพ็ท โพรเทคท์ ฟู้ด จำกัด หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งของแบรนด์ Kaniva ที่เราเรียบเรียงมาให้อ่านกัน
จากร้านเพ็ทช็อป มาเป็นแบรนด์อาหารแมวพันล้าน
จุดเริ่มต้นของคานิว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เริ่มต้นจากการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างที่ทุกคนคิด แต่เกิดขึ้นตอน ‘จารุวัฒน์’ เรียนอยู่ปีสอง เขากับพี่ชายอย่าง ‘นิติพงศ์ เลาหวิศิษฏ์’ เลือกขอกู้เงินจากคุณแม่ของตัวเองมา 2 ล้านบาท เพื่อมาเปิดร้าน Pet Shop หรือร้านขายของสัตว์เลี้ยงตามความฝันของทาสแมว
ก่อนจะจับผลัดจับผลูมาเริ่มต้นธุรกิจในนาม Kaniva (คานิว่า) อีกไม่นานหลังจากนั้นด้วยทุนเริ่มต้นธุรกิจ 1 ล้านบาท
หลังจากนั้น 2 พี่น้องตระกูลเลาหวิศิษฏ์ก็ใช้เวลา 5 ปีหลังจากนั้นปลุกปั้น Kaniva (คานิว่า) จนกลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักแมว เรียกว่าเติบโต 200% ขึ้นมาเป็นอาณาจักรอาหารแมวที่มีรายได้รวมเกินกว่า 1,600 ล้านบาท โดยมีอาหารแมวเป็นแหล่งรายได้หลักคิดเป็น 90% ของยอดขายทั้งหมด
จากคนทำอาหารแมว มาท้าทายอาหารหมา
ความตั้งใจแรกของสองพี่น้องต้องการจะออกสินค้าในกลุ่มอาหารหมาออกมาขายให้ได้ภายใน 3 เดือน หลังอาหารแมวออกขายและติดตลาด แต่สุดท้ายกลับใช้เวลามากถึง 3 ปีกว่าจะทำได้ เพราะอยากให้สามารถส่งมอบทั้งความอร่อยและสุขภาพที่ดีของน้องหมาได้พร้อมกัน
จารุวัฒน์ บอกเล่าเรื่องความท้าทายของการเข้าสู่ตลาดอาหารหมาของแบรนด์ที่แข็งแกร่งในตลาดอาหารแมว “หลายคนคิดว่าเราจะไปไม่รอด แต่เราก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะความอร่อยทำให้เกิดการกินซ้ำ”
โดย Kaniva (คานิว่า) ตั้งเป้าอยากให้ยอดขายจากอาหารแมวลดลงมาเหลือ 75% ขณะที่อาหารหมาเพิ่มสัดส่วนมาเป็น 25% ภายใน 5 ปีนับจากนี้
“แม้ทุกคนจะบอกว่าเป็นความท้าทายของ Kaniva ว่าจะทำยังไงให้ทุกคนไม่ร้องออกมาว่า Kaniva Kaniva อาหารแมวโซเดียมต่ำ แต่เราก็ได้วางแผนทำการตลาด มองหาพื้นที่ที่คนเลี้ยงหมาอยู่ เข้าไปหาเขาเหล่านั้น และทำกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นอีกมา”
เมื่อเร็วๆ นี้ Kaniva (คานิว่า) ก็ได้ดึงเอาศิลปิน T-POP วง ‘BUS because of you, i shine’ เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ นอกจากทำแคมเปญด้านอาหารสุนัขแล้ว ยังตั้งใจจะวางรากฐานของแบรนด์ในหมู่ Gen Z และ Gen Alpha ให้ได้ด้วย
นอกจากนั้น ผู้บริหาร Kaniva (คานิว่า) กล่าวว่าปีนี้แบรนด์ได้ทุ่มงบการตลาดมากกว่าปีก่อนถึง 250% ในหลากกิจกรรมที่รวมถึงการดึงศิลปินมาร่วมงาน ควบคู่กับการใช้สื่อ Out of Home มากกว่า 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ ที่เป็นแผนต่อมาหลังจาก Kaniva (คานิว่า) พยายามซิงก์ภาพกับเสียงให้คนทั่วไปรู้จักหน้าตาของแบรนด์
หลายคนอาจจะมองว่า ‘พรีเซนเตอร์’ จำเป็นไหมสำหรับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ สำหรับ Gen Y หรือ Baby Boomer จะมีแค่ 2 จาก 10 คนที่เลี้ยงสัตว์ ยังต้องแบ่งออกมาเป็นคนเลี้ยงหมาและคนเลี้ยงแมว และยังต้องแบ่งออกมาอีกว่าเป็นลูกค้าของอาหารกลุ่มไหน
ขณะที่ 1 ใน 3 ของคน Gen Z มักจะเลี้ยงสัตว์ เรียกว่าเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจ แทบจะเหมือนกับสินค้า FMCG ทั่วไป ไม่ใช่สินค้าเฉพาะกลุ่ม โดยการเลือกศิลปินวง BUS มาอย่างน้อยก็ทำให้ทุกคนที่สามารถแฟนชานท์ “พศวีร์ – มาร์คคริส – ขุนพล – ชุติวัฒน์ – คิมจินวุค – ชญานนท์ – ณัฐกิตติ์ – ภูธัชชัย – เดชาวัต – อชิรกรณ์ – จั๋งธีร์ – ภีมวสุ B-U-S BUS is twelve B-U-S BUS is twelve” ได้รู้จักกับ Kaniva
เศรษฐกิจไม่ดี ชีวิตหมาก็กระทบ
ผู้บริหารคานิว่ายังเล่าอีกว่า เพราะเมืองไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกับที่คนไทยมีลูกน้อยลง ทำให้หลายๆ คนมองหา ‘สิ่งฮีลใจ’ ที่สุดท้ายทำให้มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยแตะ 47,000 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 7-10% ต่อปี
ตลาดสัตว์เลี้ยงในเมืองไทยเป็นตลาดที่มี ‘น้องหมา’ จำนวนมากกว่าแมวอยู่มาก แต่น้องหมาส่วนใหญ่ยังคงกิน ‘อาหารคน’ มากกว่า แตกต่างกับตลาดแมวที่ ‘น้องแมว’ มักจะช่างเลือกมากกว่า ทำให้ส่วนใหญ่มักจะกิน ‘อาหารแมว’ เป็นหลัก
แต่คนเลี้ยงแมวมักจะเลือกซื้ออาหารทีละนิดๆ เพราะน้องแมวมักจะเปลี่ยนใจไปมาตลอด ขณะที่คนเลี้ยงหมามักจะซื้อสินค้าทีละเยอะๆ บางคนซื้อทีละกระสอบใหญ่ๆ เพราะน้องหมามักจะกินอย่างไรกินอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ บางตัวสามารถกินอาหารสูตรเดิมได้นานเป็น 10 ปี
นอกจากนั้น ‘จารุวัฒน์’ ยังเล่าว่า ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อส่งผลกระทบกับคนเลี้ยงหมาแมวจริง โดยตลาดที่เห็นผลกระทบมากกว่าคือ ‘อาหารหมา’ ที่ตอนนี้หลายๆ คนหันไปเลือกซื้ออาหารราคาต่ำกว่า จากเคยซื้อเดือน 1,000 บาทอาจจะเหลือเดือนละแค่ 800 บาท หรือบางคนก็เลือกลดขนม-ของเล่นลง
ขณะที่ตลาดอาหารแมวจะไม่ได้รับผลกระทบเยอะเท่ากับตลาดอาหารหมา เพราะแนวคิด ‘ทาสแมว’ ที่ทำให้คนเลี้ยงแมวคิดว่า “คนอดได้ แต่แมวห้ามอด”
ในเวลาเดียวกันความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้เห็นการเติบโตขึ้นของ ‘อาหารหมาแมวราคาประหยัด’ บ้างแล้ว ถึงแม้ประชากรคนเลี้ยงสัตว์จะมากขึ้น แต่การเลือกซื้ออาหารถูกลงและผู้เล่นที่มีจำนวนมากก็ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตแบบไม่สุด แต่ก็ไม่ลดลง
ตั้งเป้าโต 30% ลุยตลาดนอกประเทศด้วย
การแข่งขันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ก่อตั้ง Kaniva (คานิว่า) อธิบายว่า ตอนนี้ตลาดสัตว์เลี้ยงเป็นตลาด Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากมาย แต่ละเจ้าก็มีจุดเด่นแตกต่างกัน บางเจ้าเน้นสินค้าราคาถูก บางเจ้าเน้นสินค้าหลากหลาย
ในประเทศอาจจะมีสินค้าหลายพันแบรนด์ แต่ตลาดนอกประเทศจะมีอีกเป็นหมื่นแบรนด์ ดังนั้น สิ่งที่ Kaniva โฟกัสคือตัวเอง ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ต้องทำตัวให้เล็กเสมอและวิ่งได้ เพื่อให้องค์กรยืดหยุ่นอยู่ตลอด
Brand Inside เปิดรายได้ปีล่าสุดของ 3 บริษัทในเครือ Kaniva อย่าง
- บริษัท เพ็ท โพรเทคท์ ฟู้ด จำกัด มีรายได้ 1,167 ล้านบาท กำไร 84 ล้านบาท
- บริษัท เพ็ท โพรเทคท์ จำกัด มีรายได้ 688 ล้านบาท กำไร 90 ล้านบาท
- บริษัท เพ็ท โพรเทคท์ ฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีรายได้ 24 ล้านบาท ขาดทุน 7 แสนบาท
ผู้ก่อตั้ง Kaniva บอกว่า บริษัทเริ่มต้นการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศในปี 2022 สู่ประเทศอินโดนีเซีย และปัจจุบันขยายตลาดได้แล้ว 18 ประเทศทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 20 ประเทศภายในปีนี้ และวางแผนขยายสู่ตลาดยุโรปในปีถัดไป
พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายให้ Kaniva (คานิว่า) เติบโตไม่น้อยกว่า 30% ภายในปีนี้ และสามารถเข้าไปอยู่ในท็อปออฟมายด์ของลูกค้าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ โดย ‘จารุวัฒน์’ กล่าวว่า
“ เรามาไกลเกินฝันของเราแล้ว ที่เหลือคือโบนัส เราจะทำทุกวันให้ดีที่สุด”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา