เบื้องหลัง KAAN โชว์ระดับโลกของไทย ‘สตาร์ตอัพสายบันเทิง’ ที่ระดมทุนด้วย Crowdfunding

ประเทศไทยกำลังจะมี “โชว์” ระดับโลกแห่งใหม่ที่พัทยาในเดือนพฤษภาคม 2560 นั่นคือ KAAN (คาน) การแสดงสุดอลังการที่ผสมผสานระหว่างการแสดงสด (performance art) ร่วมกับภาพยนตร์ (movie screen) ที่ใช้เทคนิคด้านแสง สี เสียง และการคุมเวทีล้ำสมัยที่สุดในโลก ที่สำคัญเป็นผลงานของคนไทยทั้งหมด 100% และใช้เงินลงทุนถึง 1,000 ล้านบาท

KAAN โชว์อลังการ เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของคนไทย

เนื้อเรื่องของ KAAN เล่าถึงเด็กหนุ่มชื่อ “คาน” ที่พบกับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เปิดหนังสือขึ้นมาแล้วเขาถูกดูดเข้าไปในโลกมหัศจรรย์ของหนังสือ และต้องร่วมมือกับคู่หู “กบิลปักษา” ลิงติดปีก ไปผจญภัยกับตัวละครในวรรณคดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อสมุทร สุดสาคร และพระอภัยมณี นางกินรีแห่งป่าหิมพานต์ ทศกัณฑ์หุ่นเหล็ก และการไล่ล่าของเมขลาและรามสูรแห่งท้องฟ้า เพื่อหาทางกลับสู่โลกมนุษย์

ใครที่เคยดูโชว์ของ Cirque du Soleil การแสดงละครสัตว์สมัยใหม่ที่มีจุดกำเนิดจากแคนาดา และกระจายการแสดงไปทั่วโลก (โดยเฉพาะคาสิโนในลาสเวกัส ที่ในหนึ่งคืนจะมีโชว์อย่างเป็นทางการของ Cirque du Soleil ถึง 6 เรื่องพร้อมกันใน 6 คาสิโน) คงพอนึกภาพของ KAAN ออกว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกัน (ทีมงานของ KAAN ก็ต้องดูโชว์ระดับโลกเหล่านี้จำนวนมาก เพื่อให้รู้ว่าขีดความสามารถของเขาทำได้ขนาดไหน)

โชว์แบบนี้ใช้เทคนิคสมัยใหม่เข้าช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค screen projection ฉายภาพกราฟิกไปยังฉากภาพยนตร์ขนาดใหญ่เท่ากับจอ IMAX 3 จอ เพื่อให้เป็นฉากหลังของเรื่องราวที่เปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา หรือเครื่องกำเนิดสายฟ้า Tesla ที่สร้างสายฟ้าจำลองขึ้นมาได้จริงๆ ในโรงละคร

ส่วนการควบคุมเวที ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วยทั้งหมด เพื่อจัดแสง สี เสียง สลิง ฉากที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว บวกกับเทคนิคของนักแสดงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหุ่นเชิด ยิมนาสติก กายกรรม บัลเลต์ การเต้นแนวร่วมสมัย ที่ต้องเข้ากันเป็นอย่างดี

วิดีโออธิบายเบื้องหลัง Production ของ KAAN ว่าต้องใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ เข้าช่วยมากมาย เพื่อให้ได้ผลงานออกมาทัดเทียมโชว์ระดับโลก

ระดมยอดฝีมือทั่วไทย สร้างโรงละครใหม่ หวังเทียบชั้นโชว์ระดับโลก

ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยของ KAAN ทำให้ไม่มีโรงละครแห่งไหนในประเทศไทย ที่สามารถแสดงโชว์ KAAN ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัท ปัญจลักษณ์ เจ้าของ KAAN ต้องลงทุนสร้างโรงละครแห่งใหม่ขึ้นมา เพื่อติดตั้งโปรเจคเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ฉายภาพลงบนฉากหลังที่สูงเท่ากับตึก 4 ชั้น โดยใช้ชื่อว่า โรงละครดีลักษณ์ D’LUCK Cinematic Theatre

โรงละครดีลักษณ์ สามารถจุคนดูได้ถึง 1,400 ที่นั่ง ตั้งอยู่ที่ ถ.เทพประสิทธิ์ ในเมืองพัทยา ตัวอาคารออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดัง A49 ตกแต่งภายในโดย Jarken และก่อสร้างโดยบริษัทฤทธา (RITTA) ภายใต้คอนเซปต์ “โรงละครที่เสมือนว่าลอยอยู่บนท้องฟ้า”

ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง KAAN คือทีมงานด้านการแสดงหลายร้อยคนจากทุกวงการ นำโดย สิน – ยงยุทธ ทองกองทุน และ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา จาก บริษัทสนุกดีทวีสุข ในเครือ GDH ที่รับผิดชอบงานส่วนภาพยนตร์และการเล่าเรื่อง

งานควบคุมนักแสดงบนเวที เป็นความรับผิดชอบของ บริษัท ซีเนริโอ ผู้ผลิตละครเวทีชั้นนำของเมืองไทยของ บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ

ส่วนงานด้านสลิงและกลไกต่างๆ บนเวที เป็นผลงานของ บริษัท บ้านริก ผู้เชี่ยวชาญด้าน rigging theatre ของไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล และปิดท้ายด้วยงานด้าน screen mapping และ immersive technology โดยบริษัท Xtreme Plus

ทั้งหมดใช้เงินลงทุนสูงถึง 1,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อปักหมุดให้ “พัทยา” ก้าวสู่เวทีโลกการแสดงโชว์ให้จงได้

วิดีโอสัมภาษณ์ทีมงานยอดฝีมือในสาขาต่างๆ ของไทย ที่มารวมตัวกันสร้างโปรเจคต์ KAAN ให้เกิดขึ้น

‘สตาร์ตอัพสายบันเทิง’ ระดมทุน 1,000 ล้านบาท Crowdfunding

ผู้อยู่เบื้องหลังอภิมหาโปรเจคต์อย่าง KAAN คือ บริษัท ปัญจลักษณ์พาสุข จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหน้าใหม่ที่คงไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อโปรเจคต์ KAAN โดยเฉพาะ

Brand Inside มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการ (Chairman of the Board) ของปัญจลักษณ์ ถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการสร้างโชว์นี้ขึ้นมา

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร Chairman of the Board ของปัญจลักษณ์

ในแวดวงธุรกิจอาจรู้จักคุณศิริวัฒน์ ในฐานะ ซีอีโอของ MFEC บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่ถึงแม้คร่ำหวอดอยู่ในวงการไอทีมาตลอด คุณศิริวัฒน์ กลับมองว่าธุรกิจไอทีในไทย มีข้อจำกัดที่ทรัพยากรมนุษย์ เพราะอุตสาหกรรมไอทีไทยไม่สามารถผลิตคนได้เพียงพอกับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นต่อให้ตลาดมีความต้องการ (demand) มากเพียงใด ก็จะติดข้อจำกัดที่ฝั่งทรัพยากร (supply) อยู่ดี

คุณศิริวัฒน์ จึงมองหาว่าประเทศไทยมีอุตสาหกรรมใดบ้างที่มีทรัพยากรมนุษย์โดดเด่น มีความสามารถแข่งขัน (competitiveness) ในระดับโลก และพบว่าเป็น “อุตสาหกรรมบันเทิง” ที่มีคนเก่งๆ มากมาย ดังเช่นที่เราเห็นข่าวแวดวงครีเอทีฟไทยในสาขาต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ โฆษณา ออกแบบ บุกไปคว้ารางวัลระดับโลกกันมาโดยตลอด แต่ปัญหาของอุตสาหกรรมครีเอทีฟไทยคือไม่เคยถูกสนับสนุนโดยแหล่งทุนก้อนใหญ่ๆ ทำให้ขาดแคลนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ก้าวหน้าพอ

เมื่อคุณศิริวัฒน์ได้รู้จักกับยอดฝีมือในวงการบันเทิงไทยหลายคน ที่มีความฝันจะสร้างโชว์ระดับโลก จึงพัฒนากลายมาเป็นโปรเจคต์ KAAN ในที่สุด ในแง่ของทักษะฝีมือ ทีมงานมีพร้อมอยู่แล้ว ขาดแต่เงินลงทุนเท่านั้น

บริษัทปัญจลักษณ์ จึงเกิดขึ้นมาด้วยโมเดล Crowdfunding คือขายหุ้นให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโชว์นี้นั่นเอง คนทำงานเบื้องหลังที่มีเงินไม่เยอะก็สามารถร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้ โมเดลนี้ทำให้ปัจจุบัน ปัญจลักษณ์ ระดมทุนตั้งต้นได้ 500 ล้านบาท (อีก 500 ล้านบาทเป็นเงินกู้) จึงมีสถานะเป็นบริษัทมหาชน (มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันแรก แม้ตัวโชว์ยังไม่ได้เริ่มเปิดการแสดงและยังไม่มีรายได้เข้ามาเลยก็ตาม

นอกจากนี้ ปัญจลักษณ์ ยังบริหารงานแบบ Crowdsourcing คือไม่ได้ทำทุกอย่างเองทั้งหมด แต่ใช้วิธีตัดแบ่งงานเป็นหลายๆ ชิ้น แล้วกระจายงานไปให้คนที่เก่งที่สุดในไทยของแต่ละสาขา เข้ามารับผิดชอบงานแต่ละส่วน เพื่อให้งานในภาพรวมออกมาดีที่สุด

ปัญจลักษณ์ จึงถือได้ว่าเป็น “สตาร์ตอัพสายบันเทิง” ที่มีการระดมทุนอย่างเป็นระบบ และบริหารจัดการโดยมืออาชีพ โดยมีเป้าหมายสร้างรายได้จากโชว์ และพาบริษัทเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

โมเดลธุรกิจ หารายได้จากนักท่องเที่ยว มุ่งเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ให้การท่องเที่ยวไทย

ปัญจลักษณ์ เลือกจัดแสดง KAAN ที่พัทยา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกอยู่แล้ว และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

แนวคิดของปัญจลักษณ์คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีโอกาสจะลดลง แต่การท่องเที่ยวของไทยยังเน้นการกินบุญเก่าจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไม่มีการลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ มากนัก เมืองไทยยังขาดคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวชนิดใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาจากวัดวา ภูเขา ทะเล อย่างที่แล้วๆ มา

ปัญจลักษณ์จึงทำตัวเป็น “สตาร์ตอัพสายบันเทิง” ที่จะเพิ่มคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวให้กับเมืองพัทยา และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเกิด R&D ใหม่ๆ เข้ามา ที่ผ่านมาโปรเจคต์ KAAN ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนในท้องที่ของพัทยา และในระยะยาว KAAN ก็มีแผนจะขยายไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ของไทยด้วย

KAAN จะเริ่มแสดงรอบปฐมฤกษ์ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 และเริ่มเปิดรับการจองที่นั่งล่วงหน้าแล้ว รายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ kaanshow.com 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา