K SME Good to Great #ถ้าหยุดแค่คำว่าดี คุณจะไม่พบกับคำว่าเยี่ยม

สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ KBank เล่าว่า โครงการ K SME Good to Great คือโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีในการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทั้งการอบรมความรู้ การให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจากหลายธุรกิจมาช่วยวิเคราะห์ วางแผน แก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีแบบ Case by Case  พร้อมโอกาสรับเงินรางวัล 1 แสนบาท เพื่อเป็นเงินทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเข้าช่องทางจัดจำหน่าย เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหาร ที่สำคัญเปิดให้ผู้ประกอบการทุกคนสมัครเข้าร่วมได้

“ปีนี้โครงการ K SME Good to Great โฟกัสใน 3 อุตสาหกรรมได้แก่ อาหาร ค้าปลีก และชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้ง 3 ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย และต่างเจอการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากกระแสเทคโนโลยีที่ถาโถม ดังนั้นผู้ประกอบการทั้ง 3 อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว รวมทั้งต้องแสวงหาโอกาสใหม่ ธนาคารเข้าใจในปัญหาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเผชิญ จึงจัดให้มีการสัมมนาเฉพาะเรื่องเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ตามรายอุตสาหกรรม รวมไปจนถึงการวิเคราะห์ธุรกิจแบบรายบุคคล แต่หัวใจหลักคือการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสและช่วยให้เกิดตลาดใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและต่อยอดสินค้าดั้งเดิมให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”

สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ KBank

SME ต้องมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความต่าง ถึงจะอยู่รอดในธุรกิจ

โครงการ K SME Good to Great เริ่มต้นที่อุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญสามารถผลิตส่งขายได้ทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก

“ถ้าเราทำอะไรง่ายๆ ราคาถูก คู่แข่งก็เยอะ ดังนั้นถ้าเราสร้างความต่างให้เกิดขึ้นไม่ได้ โปรดักส์เราก็ไม่มี Value Added กำไรที่ได้ก็น้อย ตลาดก็เล็ก หากเรายังทำธุรกิจแบบเดิมๆ อาจจะแข่งขันสู้คนอื่นไม่ได้ ดังนั้น การปรับตัวสร้างแบรนด์ เพิ่มนวัตกรรมทั้งด้านการผลิต การตลาด หรือการลดใช้คนถือว่าจำเป็นในการทำธุรกิจยุคนี้”

SME อุตสาหกรรมอาหารมักเติบโตจากโอกาสที่มีอยู่ในมือเพราะวัตถุดิบในการผลิตอาหารส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ แต่ถ้าต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องผู้ประกอบการควรจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศ  โดยต้องหันมาโฟกัสว่าจะสร้างสินค้าให้มีความต่างอย่างไรเพื่อโดนใจลูกค้าต่างชาติ โดยต้องคิดตั้งแต่เรื่องช่องทางออนไลน์ การออกแบบทำบรรจุภัณฑ์ การหาวิธียืดอายุสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้น ในขณะที่รสชาติยังต้องดีอยู่ เมื่อ Shelf Life มีอายุนานขึ้น จะช่วยให้ต้นทุนต่ำลงและมีโอกาสขายได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากโครงการให้ความรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายแล้ว ธนาคารยังสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ เช่น เรื่องเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อระยะยาว สำหรับในการซื้อเครื่องจักร หรือขยายโกดัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ  หรือสินเชื่อระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ที่สำคัญยังมีโซลูชั่นและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมแกร่งให้ SME อาทิ ระบบจัดการร้าน ระบบการทำบัญชี หรือระบบการชำระเงิน (Payments) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น

5 ธุรกิจผลิตอาหารสุดแกร่ง จากโครงการ K SME Good to Great

โครงการ K SME Good to Great มีทั้งการสัมมนาให้ความรู้ และคัดเลือก SME มาเข้าอบรมในเรื่องการนำนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจ ปัจจุบันได้ผู้ประกอบการที่แกร่งที่สุดในธุรกิจผลิตอาหารที่ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท จำนวน 5 รายได้แก่ บริษัท โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด อาหารพร้อมปรุงสำหรับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ บริษัท เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ จำกัด ผงชงปั่นสมูตตี้ออร์แกนิค บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัดอาหารอบแห้ง บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด อาหารสำเร็จรูป และบริษัท อินเซ็ค โปรตีน จำกัด ขนมขบเคี้ยว โดยทั้ง 5 บริษัมีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี

“SME ทั้ง 5 รายที่ได้รับรางวัล 100,000 บาท เป็น SME ที่มีผลงานโดดเด่น โดยแต่ละรายมีการวางแผนธุรกิจอย่างละเอียด และมีการนำนวัตกรรมมาช่วยต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันได้อย่างดี เช่น ขนมขบเคี้ยวเสริมโปรตีนที่ทำมาจากจิ้งหรีด ที่ใช้นวัตกรรมมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดในรูปแบบของขนมอบกรอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหารูปลักษณ์จิ้งหรีดที่น่ากลัว ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้ากิน  หรือผงปั่นสมูทตี้ที่ใช้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยมีการนำนวัตกรรมมาช่วยทำให้เป็นผง เก็บได้นานขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ฯลฯ”

“ธนาคารมีความภูมิใจ กับการที่ SME ที่เข้าร่วมโครงการต่างได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งในด้านความรู้ และเครือข่ายในธุรกิจอาหารด้วยกัน ซึ่งต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนี้ธนาคารเองยังมีช่องทางช่วยโปรโมทสินค้าและแบรนด์ของผู้ประกอบการ ผ่านพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงการเสนอขายสินค้าบน KPlus Market ผ่านแอพพลิเคชั่น KPlus ที่มีฐานลูกค้ากว่า 9.5 ล้านราย  

เรียกได้ว่านวัตกรรมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบัน เพราะหากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ธุรกิจเกิดความแตกต่าง อาจจะแข่งขันสู้ ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจ SME ด้วยกันเองไม่ได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการ จะช่วยสร้างความแตกต่างเพิ่มโอกาสการขาย และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่สิ้นสุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา