Brand Inside ได้ไปเดินสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการใช้งานแอพจ่ายเงินบนมือถือ QR Payment และพบว่า การใช้งานยังน้อย เมื่อผ่านช่วงโปรโมทไปก็ไม่ได้แพร่หลายอย่างที่คิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความยุ่งยาก ซับซ้อน
K PLUS กับ Lifestyle Platform ธนาคารบนมือถือ
ความยุ่งยากซับซ้อนของแอพธนาคารบนมือถือ คือ ความไม่คุ้นเคยของผู้ใช้และการต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิม นี่คือโจทย์ที่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อทำให้ผู้ใช้เห็นว่า บนมือถือสามารถใช้บริการได้แทบไม่ต่างจากการไปสาขา
การจะทำให้ K PLUS กลายเป็น Lifestyle Platform ต้องมาจากความเข้าใจของผู้บริโภค
พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส KBank บอกว่า K PLUS ต้องการให้ประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าไร้รอยต่อ จะอยู่บนมือถือหรืออยู่ธนาคารก็ได้รับบริการไม่ต่างกัน จึงนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอบริการได้ตรงความต้องการมากขึ้น
เต๋อ นวพล ถ่ายทอดความ “แมส” ผ่าน Friendship
และเพื่อถ่ายทอดให้ผู้ใช้ได้รับรู้ว่า K PLUS เป็น Lifestyle Platform หรือ บริการทางการเงินที่ทุกคนเข้าถึงได้ จึงถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์โฆษณา ที่เขียนบทและกำกับโดย เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
เต๋อ ได้บอกผ่านหน้าเฟสบุ๊ค ของตัวเองว่า นี่คือหนังที่แอคชั่นที่สุดในชีวิต ได้ร่วมงานกับนักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด ประเด็นคือ ต้องการถ่ายทอดว่า K PLUS เป็นเรื่องที่ง่าย และ “แมส” ที่ใครๆ ก็รู้จักและใช้งาน (และเราสามารถใช้เรื่องนี้ เป็นหัวข้อในการเข้าไปคุยเพื่อสร้างเพื่อนใหม่ได้ด้วย)
ถ้ายังไม่ได้ดู นี่คือ เรื่องราวของ ฮุ่ย หญิงสาวที่กำลังจะย้ายที่อยู่ และพยายามหาเพื่อนใหม่ ด้วยการทำตัว “แมส” ปล่อยวางแล้วคลิกดูเองดีกว่า
เพื่อความเป็นไลฟ์สไตล์ กับ 4 บริการใหม่
K PLUS มียอดการทำธุรกรรม 3,000 ล้านรายการต่อปี มีปริมาณธุรกรรม 6.3 ล้านล้านบาท จากฐานลูกค้า 7.5 ล้านราย ซึ่งใช้งานประจำ 80% ตัวแอพเหมาะทั้งการใช้ส่วนบุคคล ใช้เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยเชื่อมกับ K PLUS SHOP
ไตรมาสแรกปีนี้ มีบริการใหม่ 4 ฟังก์ชั่น
- Quick Pay จ่ายเงินได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องล็อกอิน สแกน QR ของร้านค้าที่ใช้ K PLUS SHOP จ่ายเงินได้ทันที โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ QR Payment ผ่าน K PLUS ประมาณ 1.3 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรม 811 ล้านบาท
- ช้อปบน K PLUS จะเปิดให้บริการเดือน มี.ค. เป็นตลาดนัดออนไลน์ เลือกซื้อสินค้า เช่น สินค้าเกษตรคุณภาพจากโครงการพรวนฝันและกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ ตั้งเป้ามีสินค้า 30 ล้านรายการในปีนี้ และมียอดซื้อขายผ่านระบบ e-Marketplace 600 ล้านบาท ในเวลา 1 ปี
- สินเชื่อบุคคล โดย KBank จะคำนวณอัตราดอกเบี้ยจากความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) ผ่านแอพ K PLUS โดยเริ่มทดลองกับกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตที่ดีในการทำธุรกรรม โดยลูกค้าสามารถกดเข้าไปเลือกวงเงินกู้ ระบบจะแสดงวงเงินกู้สงสุดที่สามารถกู้ได้ กดรับสินเชื่อ เงินจะเข้าบัญชีทันที
- ร้านค้าใช้แอพ K PLUS SHOP จำนวน 800,000 ร้านค้า มีธุรกรรม 1.4 ล้านรายการ มูลค่าการทำธุรกรรม 1,100 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้าในสิ้นปีนี้ ล่าสุดได้พัฒนาฟังก์ชั่น “ขายและเรียกเก็บเงินผ่านโซเชียล หรือ Social Payment” ร้านค้ารับเงินจากผู้ซื้อผ่าน Facebook, Messenger, Instagram, LINE, Whatsapp ได้โดยส่งบิลในรูป QR Code ชำระผ่าน K PLUS หรือ แอพของธนาคารอื่นได้ทันที
kBank ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งานแอพ K PLUS เพิ่มเป็น 10.8 ล้านราย และแอพ K PLUS SHOP เพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้า ภายในสิ้นปี 2561
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา