ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นควรยกฟ้องคดี “แอชตัน อโศก”

ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นควรยกฟ้องคดี “แอชตัน อโศก” เหตุไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์เพื่อการขนส่งสาธารณะของ รฟม.

จากกรณีของ “แอชตันอโศก” ที่ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันนี้ (20 ก.ย 65) เป็นคดีที่ “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” ยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก และขอเพิกถอนใบอนุญาตให้โครงการดังกล่าวใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนอโศกมนตรี

 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยเฟสบุ๊กของ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในคดีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและผู้ฟ้องคดีรวม 16 คนได้ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวไปด้วย 

“แม้ว่าศาลจะพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดีไปแล้วก็ตาม แต่มีบางประเด็นที่ศาลยกและไม่วินิจฉัยให้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เห็นว่าควรที่จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้เป็นบรรทัดฐานในทางคดีต่อไป” เนื่องจากสมาคมฯมีกรณีพิพาทอีกหลายคอนโดมิเนียมที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง และที่กำลังจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลก็อีกหลายคดี

ในการแถลงคดีของตุลาการผู้แถลงคดีวันนี้ สรุปในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นประเด็นหลักในคดีนี้ว่า การที่ รฟม.อนุญาตให้ผู้ประกอบการอาคารแอชตันอโศกใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนเพื่อเข้า-ออกอาคารดังกล่าวได้นั้น ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเพื่อการขนส่งสาธารณะของ รฟม. อีกทั้งเอกชนได้ชำระเป็นค่าเช่าให้กับ รฟม.แล้วกว่า 97.6 ล้านบาทแล้วนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวเห็นว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีความเห็นต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ว่า “ควรยกฟ้อง”

ส่วนกรณีที่เจ้าของที่ดินเดิมได้เคยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแล้วทำการตัดที่ดินบางส่วนเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะพร้อมกับจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้วนั้น แต่เมื่อมาทำการสำรวจรังวัดใหม่กลับไม่ปรากฏถนนสาธารณะดังกล่าว จนทำให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างคอนโดฯได้นั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้ทำความเห็นเสนอต่อองค์คณะไว้แล้ว

หลังจากวันนี้ องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดจะทำคำวินิจฉัยและคำพิพากษาซึ่งจะสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ และจะส่งไปให้ศาลปกครองกลาง เพื่อนัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาต่อไป ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพราะคดีในลักษณะนี้จะใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมในอนาคตต่อไป 

และยังมีอีกหลายอาคารที่มีชาวบ้านร้องเรียนมายังสมาคมฯว่าก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตาม EIA และก่อสร้างได้สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านข้างเคียงอย่างมาก รวมทั้งการนำพื้นที่ถนนรอบอาคารที่กว้าง 6 เมตรไปทำสวนหย่อมผิดไปจากแบบแปลนซึ่งมีมากกว่า 10 อาคารที่ตรวจสอบพบ ซึ่งสมาคมฯจะยื่นเรื่องเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา