มุมมองจากกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยของ JPMorgan ที่มองว่าปัญหาวิกฤติการเงินครั้งต่อไปอาจไม่เหมือนเดิม เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือนกับในอดีต เช่น ในปี 2008 วิกฤติเกิดจากปัญหาของอสังหา รวมไปถึงภาคการเงินที่ไม่เข้มงวด แต่ครั้งต่อไปที่เกิดขึ้นอาจมีอะไรที่มากกว่าอดีต
Joyce Chang ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยของ JPMorgan มองว่าวิกฤติการเงินครั้งต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากหลายๆ สิ่ง ได้เปลี่ยนไปหลังจากวิกฤติการเงินปี 2008 ที่ผ่านมาแล้ว 10 ปี
อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ของ JPMorgan เคยวิเคราะห์ไว้ถึงปัจจัยเสริมที่จะทำให้ตลาดหุ้นตกหนักกว่าเดิมมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพคล่อง หรือการซื้อสินทรัพย์ที่ซื้อขายยากกว่าเดิม ฯลฯ
Brand Inside รวบรวม 4 ปัจจัยสำคัญๆ ที่ Chang มองว่าวิกฤติการเงินคราวหน้าจะไม่เหมือนเดิม
1. สภาพตลาดและโครงสร้างที่ไม่เหมือนเดิม
สภาพตลาดหุ้นและโครงสร้างของตลาดได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมากหลังจากปี 2008 ไม่ว่าจะเป็น ETF ในตลาดสหรัฐที่มีหลากหลายสินทรัพย์ให้ลงทุนมีเม็ดเงินไหลเข้ามาเรื่อยๆ รวมไปถึงตลาดตราสารหนี้ที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิมมาก ยังรวมไปถึงสภาพคล่องที่มากกว่าในอดีตอีกด้วย
Joyce มองว่าถ้าหากสภาพคล่องลดลงจริงๆ เธอมองว่ามูลค่าการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันอาจลดได้มากถึง 70% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน
2. โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม
นโยบายการต่างประเทศในหลายๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนไปมากขึ้น แต่เดิมนั้นเป็น การสร้างความร่วมมือระหว่างกันแบบพหุภาคี (Multilateralism) ในการร่วมมือกันหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ เช่น IMF หรือ WTO หรือในด้านความร่วมมืออื่นๆ ฯลฯ
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่านโยบายการเมืองเริ่มกลับไปมองประเทศตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Brexit หรือแม้แต่ America First
นอกจากนี้ปัจจุบันโลกยังมีมหาอำนาจหลายประเทศที่มากกว่าเดิม เช่น จีน รัสเซีย สหภาพยุโรป ฯลฯ ทำให้บริษัทเอกชนในสหรัฐเริ่มที่จะพูดเรื่องภูมิรัฐศาสตร์นี้มากขึ้นแล้วด้วย เพราะว่าอาจทำให้กระทบกับกำไรของบริษัท
3. นโยบายประชานิยมที่เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเมืองจากพรรคไหนในประเทศใด ปัจจุบันย่อมมีอย่างน้อยหนึ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ “ประชานิยม” เราจะเห็นได้จากการเลือกตั้งตามประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก บราซิลที่พึ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ได้รับตำแหน่งก็เพราะนโยบายประชานิยมด้วย
มุมมองของ Joyce มองว่า เทรนด์ของนโยบายประชานิยมนี้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจาก ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 1929 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และความหละหลวมในหน่วยงานกำกับดูแลการเงิน ทำให้ช่องว่างทางรายได้ห่างเพิ่มมากขึ้น
4. ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน
เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของ สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศจีน ซึ่งเรื่องนี้อาจมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติทางการเงินขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่นั้นนอกจากนี้ยังมีปัญหาตามมาจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน เช่น ปัญหาทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่การขยายอำนาจของจีนผ่านการปล่อยเงินกู้ให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ อีกด้วย
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา