Marko Kolanovic นักวิเคราะห์จาก JPMorgan มองถึงปัจจัยเสริมที่ทำให้ตลาดหุ้นตกหนักกว่าเดิม ซึ่งเขามองว่าวิกฤติครั้งนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมเพิ่มด้วย
Marko Kolanovic ตำแหน่ง Global Head of Quantitative & Derivatives จาก JPMorgan วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสริมที่จะทำให้ตลาดหุ้นตกหนักมากกว่าเดิม โดยสาเหตุหลักๆ มาจาก ปัจจัยเรื่องสภาพคล่อง
นอกจากนี้มุมมองของเขายังมองถึงเรื่องหลังจากที่ตลาดหุ้นตกหนักอาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมขึ้นครั้งใหญ่ ในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว เนื่องจากปัจจุบันโลกอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกคนมากขึ้น เปรียบเหมือนการทำข่าวของนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนในสมัยสงครามเวียดนาม ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
Brand Inside ได้รวบรวมมุมมองสำคัญๆ ของ Marko Kolanovic มาฝาก
การลงทุนจาก Active สู่ Passive
เม็ดเงินในการลงทุนแบบ Passive เช่น การซื้อกองทุนแบบ ETF ได้รับความนิยมมากขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยสินทรัพย์ที่อยู่ในการลงทุนแบบ Passive ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่านี่คือระเบิดก้อนใหญ่เลยทีเดียว ถ้าหากสินทรัพย์เหล่านี้โดนเทขายออกมา
การถือครองสินทรัพย์ที่ซื้อขายยาก
Kolanovic มองว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินในการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลดลงตลอด แต่กลับกลายเป็นว่าเม็ดเงินนั้นไปลงทุนในบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ (ไม่เว้นแม้แต่สตาร์ทอัพ) หรือแม้แต่สินทรัพย์ต่างๆ ที่ซื้อขายยาก ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้เพิ่มขึ้นตลอดในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้ปัญหาในอนาคตคือ สภาพคล่องที่น้อยสำหรับสินทรัพย์เหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดความผันผวนในตลาดตลอดช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติการเงิน
Valuation ที่แพง และรวมไปถึงความผันผวนที่สูง
นอกจากนี้ Valuation ของหุ้นที่กำลังจะแพงขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางในแต่ละที่กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งไม่เหมือนในอดีตที่มีนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้กำไรต่อหุ้นสูงกว่า ทำให้ P/E ของตลาดลดลง และนอกจากนี้อาจยังส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนสูงขึ้นอีกด้วย
สงครามการค้า
ตัวเร่งอีกเรื่องที่สำคัญคือสงครามการค้า และผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยผลกระทบของมาตรการกำแพงภาษีเกิดขึ้นจะช้ากว่าการประกาศขึ้นภาษี แถมสงครามการค้ายังมาเกิดขึ้นตอนที่ธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อาจเป็นหนึ่งประเด็นที่ทำให้ตลาดหุ้นตกหนักและรวมไปถึงเศรษฐกิจตกต่ำจากเรื่องนี้
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา