ชวนอ่านงานวิจัย: อะไรคือ “JOMO” แล้วทำไมกูเกิลถึงอยากให้คุณติดมือถือน้อยลง?

เปิดงานวิจัย JOMO ของกูเกิล
เปิดงานวิจัย JOMO ของกูเกิล

เปิดงานวิจัย เมื่อกูเกิลรู้สึกว่า ผู้คนใช้มือถือมากเกินไป

งานวิจัยล่าสุดเรื่อง JOMO โดยนักวิจัยจากทีม Android ของกูเกิล เริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตว่า ยุคนี้ผู้คนใช้มือถือมากเกินไป จนทำให้เริ่มรู้สึกว่า เทคโนโลยีคือสิ่งที่มารบกวนชีวิต เพราะการแจ้งเตือนและอีกสารพัดสิ่งในมือถือ ทำให้ผู้คนเสียสมาธิในการทำงานและใช้ชีวิต

  • กูเกิลมองว่า นี่คือเรื่องใหญ่ เพราะถ้าเทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น แล้วจะมีเทคโนโลยีไปทำไม?

กูเกิล เริ่มต้นด้วยการศึกษาผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรม ได้แก่ สัมภาษณ์ผู้ที่ใช้มือถือ (ทั้งฝั่งผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS และ Android) จำนวน 19 คนในสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีอายุระหว่าง 18-65 ปี และรวมไปถึงวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้งานมือถือในรอบ 2 ปีในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา

ผลปรากฏว่า แม้ผู้คนเหล่านี้จะมาจากต่างวัฒนธรรม ต่างประเทศ ต่างเพศ ต่างอายุ หรือใช้มือถือที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ ความรู้สึกติดมือถือ และที่มากไปกว่านั้น สิ่งนี้ได้สร้างความเครียดขึ้นมาให้กับพวกเขาโดยไม่รู้ตัว!

อาการแบบนี้เป็นกันทั่วโลก จนถึงขั้นกับมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกอาการลักษณะนี้ว่า FOMO 

FOMO คืออะไร?

FOMO (โฟ-โม่) ย่อมาจากคำว่า Fear of Missing Out แปลว่า ความกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง

ความกลัวที่จะพลาด “บางสิ่งบางอย่าง” ในที่นี้คือ ความกลัวที่จะพลาดข้อมูล ข่าวสาร หรือข้อความที่มีคนส่งมาให้

กูเกิล ระบุว่า มี 2 เหตุผลที่ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึก FOMO จนต้องติดมือถือเพื่อคอยเช็คอยู่ตลอดเวลา ได้แก่

  1. มือถือยุคนี้ทำได้แทบทุกสิ่ง (ทั้งกล้องถ่ายภาพ บันทึก เครื่องคิดเลข นาฬิกาปลุก แอพพลิเคชั่นต่างๆ)
    หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ เปิดเผยประสบการณ์กับกูเกิลว่า การใช้มือถือ “มันเหมือนกับการติดคุก คุณสามารถหลงเข้าไปในโทรศัพท์แล้วหาทางออกไม่ได้ เพราะมีทั้งโซเชียลมีเดีย เกม และรวมถึงการทำตัวออนไลน์ทั้งวันเพื่อติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ”
  2. ความรู้สึกที่ต้องรีบตอบข้อความของคนที่ส่งมา (เพราะถ้าส่งช้า จะรู้สึกผิด)
    สิ่งนี้ทำให้ผู้คนต้องติดมือถือตลอดเวลา ห่างไม่ได้ หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ บอกกับกูเกิลว่า “มือถือก็เหมือนสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ ของฉันนี่แหละ มันไปกับฉันทุกหนทุกแห่ง ก็ฉันไม่อยากพลาดข้อความใดสักข้อความหนึ่งน่ะสิ”
  • สรุป อาการติดมือถือของผู้คนในยุคนี้ที่เรียกว่า FOMO คือความรู้สึกขาดมือถือไม่ได้ ต้องมีมือถือติดตัวตลอดเวลาเพื่อคอยเช็คและอัพเดทว่ามีข้อมูล ข่าวสาร หรือข้อความต่างๆ อะไรบ้างที่ส่งมาถึง
ติดมือถือ FOMO JOMO
Photo: Shutterstock

ข้อเสนอของกูเกิล อยากให้ติดมือถือน้อยลง: เปลี่ยน FOMO เป็น JOMO

กูเกิล บอกว่า เราควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือถือจาก FOMO ที่กลัวจะพลาดบางสิ่งบางอย่าง มาเป็น JOMO (โจ-โม่) ที่ย่อมาจากคำว่า Joy of Missing Out หรือที่แปลว่า “ความสุขที่ได้พลาดบางสิ่งบางอย่างไป”

นักวิจัยของกูเกิล เสนอว่า มี 3 สิ่งที่ผู้ผลิตมือถือและอุตสาหกรรมมือถือควรทำ เพื่อที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความสัมพันธ์อันดีกับมือถือ(และเทคโนโลยี) ได้แก่

  1. สร้างเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมติดมือถือมากเกินไปแล้ว เช่น ฟีเจอร์ใหม่ของกูเกิลที่ได้ส่ง Digital Wellbeing มาให้ได้ใช้งาน เพื่อคอยแจ้งเตือนและควบคุมเวลาในการใช้มือถือที่มากเกินพอดี
  2. สร้างเครื่องมือที่ช่วยลดการใช้งานมือถือ เช่น แอพพลิเคชั่น App Timer ของ Adroid ที่สามารถจำกัดเวลาการใช้งานแอพพลิเคชั่นหรือมือถือของเราได้
  3. ปิดการติดต่อสื่อสารในบางแอพพลิเคชั่น เช่น อนุญาตให้แอพพลิเคชั่นที่สำคัญเท่านั้นทำงาน ส่วนแอพพลิเคชั่นที่ไม่สำคัญ ก็ลด ละ หรือไม่ก็จำกัดการใช้งานลงไปบ้าง

ถึงที่สุดแล้ว การที่กูเกิลต้องการให้ผู้ใช้งานมือถือ “ไม่กลัว” ที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง และใช้งานมือถือให้น้อยลง นั่นก็เป็นเพราะกูเกิลมองว่า เทคโนโลยีควรเข้ามาทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น ไม่ใช่มากวนใจ ทำให้เสียสมาธิในการทำงานและการใช้ชีวิต เพราะในระยะยาวอาจทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเทคโนโลยี (ซึ่งสิ่งนี้คงไม่ใช่อะไรที่บริษัทกูเกิลอยากให้เกิดขึ้น)

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวคิดหลักของ Android 9 Pie ฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดของทางค่าย โดยได้ประกาศไว้ตั้งแต่งาน Google I/O 2018 แล้ว คาดว่าหลังจากนี้กูเกิลจะจริงจังกับเรื่อง JOMO มากขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน

สรุป

กูเกิลต้องการให้ผู้ใช้งานมือถือในยุคนี้ลดเวลาการใช้มือถือให้น้อยลง โดยให้ทั้งผู้ใช้งานและบริษัทผู้ผลิตมือถือร่วมกันเปลี่ยนจากทัศนคติแบบ “FOMO” ที่กลัวพลาดบางสิ่งบางอย่างไป มาเป็น “JOMO” ที่มีความสุขกับการพลาดบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง เพราะในท้ายที่สุดจะทำให้มีสมาธิกับการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น และความสัมพันธ์ในระยะยาวกับเทคโนโลยีก็ดีด้วย

ข้อมูล – Google

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา