ปกติแล้วการเปลี่ยนผ่าน CEO ในองค์กรขนาดใหญ่ของโลกมักเอาคนใน หรือคนที่มีความคุ้นเคยกับธุรกิจที่องค์กรนั้นทำอยู่ แต่ไม่ใช่กับ Nike ที่ล่าสุดแต่งตั้ง John Donahoe อดีต CEO ของ eBay ขึ้นมาเป็น CEO คนใหม่
ห่างจากความเป็นผู้ทำธุรกิจผลิตอุปกรณ์กีฬา
ไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่อย่าง Nike เพราะ Mark Parker ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2549 ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง และขึ้นไปเป็นประธานของ Nike แทน ทำให้ต้องแต่งตั้งหัวเรือคนใหม่ และเขาผู้นั้นชื่อว่า John Donahoe
แต่ถ้า John Donahoe เป็นคนในบริษัท, มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก หรือออกแบบอุปกรณ์กีฬามาก่อนก็คงไม่แปลก แต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ Nike กลับทำงานเกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยีตลอด เช่นเป็น CEO ของ eBay และ Paypal เกือบ 10 ปี ก่อนรับงานนี้ก็เป็น CEO ของ ServiceNow บริษัท Cloud Computing
อย่างไรก็ตามด้วยตัวเขาเป็น CEO และกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co. ทำให้เขาได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ Nike ตั้งแต่ปี 2557 แต่นั่นมันก็ในมุมที่ปรึกษา และคลุกคลีกับธุรกิจผลิตอุปกรณ์กีฬามาตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ต่างกับอดีต CEO ของ Nike ที่เติบโตมาจากนักออกแบบรองเท้ากีฬาของ Nike
ชี้ให้เห็นถึงความจริงจังในเรื่องเทคโนโลยี
การเลือก John Donahoe ที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีแสดงให้เห็นว่า Nike ต้องการเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤติในธุรกิจค้าปลีก และ Nike ก็เจอผลกระทบไม่น้อย ทั้งการปิดตัวของร้านขายอุปกรณ์กีฬา รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มอยากใช้สินค้าให้แสดงถึงความเป็นตัวเองมากกว่าแค่ใช้อุปกรณ์กีฬาดีๆ สักชิ้น
แต่ Nike ก็หลุดวิกฤตินี้มาได้ด้วยการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี ทั้งการควบรวมกิจการ Zodiac ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แถมปรับรูปแบบหน้าร้านของ Nike ให้มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบมากขึ้น
เมื่อเป็นแบบนี้การได้ John Donahoe ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วมาปรับกลยุทธ์ และทำงานไปกับผู้บริหารระดับสูงชุดเดิมของ Nike ก็น่าจะทำให้การเดินเกมนวัตกรรมล้ำๆ ของผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬารายนี้ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน แม้จะเจอวิกฤติต่างๆ จนกระทบยอดขายบ้าง โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดทางการเมือง
CEO ของ Under Armour ก็ลงจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกันแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาอีกรายอย่าง Under Armour ก็มีการปรับเปลี่ยน CEO เช่นเดียวกัน โดย Kevin Prank ผู้ก่อตั้ง และ CEO ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการได้ลงจากตำแหน่ง โดยมี Patrik Frisk ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้แทนหลังจากเข้าร่วมงานกับ Under Armour มา 2 ปี
สำหรับกรณีของ Patrik Frisk จะแตกต่างกับ John Donahoe เพราะเขาทำงานใน Under Armour มาก่อน โดยผลงานสำคัญคือการพลิกแบรนด์ที่ชูจุดเด่นเรื่อง Performance มาเป็นสินค้าอุปกรณ์กีฬาที่เข้าถึงทุกคน ทำให้ Under Armour รอดพ้นวิกฤติยอดขายตกต่ำมาได้
ก่อนหน้านี้ Patrik Frisk ได้ร่วมงานกับแบรนด์รองเท้า Timberland และมีส่วนเกี่ยวของในการปรับภาพลักษณ์แบรนด์รองเท้าบูทที่เกือบจะหายไปจากตลาด กลับมามีที่ยืนผ่านการชูเรื่องความเป็นแฟชั่นมากขึ้น ในทางกลับกันการลงจากตำแหน่งของ Kevin Prank ก็น่าจะแสดงถึงความผิดพลาดในกลยุทธ์ Performance ของแบรนด์เช่นกัน
สรุป
เมื่อ Nike ตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่เป็นคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี ก็ต้องติดตามต่อไปว่า ภาพรวมของ Nike จะเปลี่ยนไปขนาดไหน จะใส่เทคโนโลยีเข้ามาในทุกส่วนเลยหรือไม่ ส่วนฝั่ง Under Armour เองก็ต้องดูว่าจะฟื้นแบรนด์กลับมาได้แค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่า Under Armour จะกลับมาในภาพลักษณ์ใหม่แน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา