คุยกับ จอห์น บราวน์ CEO ของ Agoda: อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ในวันที่ไม่มีต่างชาติ

Agoda แพลตฟอร์มด้านการเดินทางที่มีฐานที่มั่นในประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมการทำธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19

จอห์น บราว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Agoda ภาพจาก agoda.com

จอห์น บราว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Agoda เล่าว่า Agoda มีจุดเริ่มต้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2005 โดยปัจจุบันเป็นบริษัทภายใต้ Booking Holding และมีพนักงานกว่า 2,000 คน ภายในประเทศไทย และให้บริการลูกค้ากว่า 1 ล้านคนต่อสัปดาห์

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ในอนาคตระยะสั้น จอห์น บราว มองว่า จะยังคงเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก เพราะยังไม่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมยังคงเป็น สถานที่ท่องเที่ยวทะเล ริมชายหาด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

โดยจากสถิติพบว่ากว่า 78% ของคนไทย มีความต้องการที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยในจำนวนนี้ 38% เลือกที่ที่จะเที่ยวทะเล รองลงมาคือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ

ส่วนในระยะยาว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว คนจึงจะรู้สึกว่าปลอดภัยที่จะเดินทางท่องเที่ยว

Yaowarat Bangkok Thailand
ภาพจาก Shutterstock

พฤติกรรมคนเปลี่ยน ใช้เงินเที่ยวในประเทศมากขึ้น

พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเงิน โดยพบว่า คนยอมเสียเงินให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการจองโรงแรม จากที่เคยจองโรงแรม 4 ดาว ก็เปลี่ยนมาเป็นการจองโรงแรม 5 ดาว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถนำเงินส่วนต่าง ที่แต่เดิมเคยใช้เพื่อจองโรงแรมในต่างประเทศ หรือจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน มาใช้ท่องเที่ยวภายในประเทศแทน

สัดส่วนการจองที่พักของ Agoda ในปีนี้เป็นการจองที่พักภายในประเทศกว่า 90% แตกต่างจากปีที่แล้ว ที่สัดส่วนการจองห้องพักระหว่างภายในประเทศ และต่างประเทศมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย นอกเหนือจาก หัวหิน ชะอำ พัทยา เขาใหญ่ ระยอง และกาญจนบุรี ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว พบว่า การท่องเที่ยวเมืองรอง ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน เช่น จังหวัดนครนายก จันทบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก อุดรธานี และขอนแก่น เพราะในเมื่อเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ จึงมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของ GDP ทำให้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่โดยเฉลี่ยแล้วการท่องเที่ยวจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ แม้จะมีการท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวนมากแล้วก็ตาม

เที่ยวภายในประเทศ เป็นพฤติกรรมชั่วคราว

แต่อย่างใดก็ตามสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นเพียงกระแสเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ คนก็คงเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน

สิ่งที่ Agoda ได้เรียนรู้จากวิกฤตในครั้งนี้

จอห์น บราวน์ เล่าว่า บทเรียนของ Agoda ที่ได้รับจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้คือ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตได้เลย ไม่ว่าจะโรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ดังนั้นต้องรู้จักรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรแบบ Agile ที่การปรับตัวอย่างรวดเร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา Agoda ต้องมีการปรับตัว เพื่อลดต้นทุนหลายๆ อย่าง ทั้งงบการตลาด ลดพื้นที่สำนักงาน ลดเงินเดือนผู้บริหาร แม้แต่ตัวของจอห์น บราวน์เอง ก็ทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเลยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา