โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี สั่งหน่วยงานรัฐป้องกันธุรกิจใหญ่ผูกขาด เปิดโอกาสการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน
ในวงการเทคโนโลยี การเข้าซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการบริษัทขนาดเล็ก เข้ากับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่เห็นกันจนชินตา แต่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะหากการซื้อกิจการนี้ทำเพื่อ “ฆ่าคู่แข่ง” ในวงการเดียวกัน โดยที่หน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบ
โจ ไบเดน เซ็นคำสั่งประธานาธิบดีป้องกันการผูกขาดของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่
ล่าสุด โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เซ็นคำสั่งประธานาธิบดีสั่งให้หน่วยงานรัฐออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยมีหลักการสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
-
- ควบคุมการควบรวมกิจการของบริษัทเทคโนโลยีให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ที่มักซื้อกิจการคู่แข่งที่เพิ่งเริ่มกิจการ
- ให้คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ (FTC) ออกกฎควบคุมการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานมากเกินไป มีรูปแบบการทำธุรกิจที่พึ่งพาข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว
- ให้คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ (FTC) ออกกฎควบคุมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทเทคโนโลยี โดยในคำสั่งประธานาธิบดีระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ใช้อำนาจของตัวเองทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น การที่เว็บไซต์ E-Commerce เก็บข้อมูลการขายของธุรกิจขนาดเล็ก แล้วนำข้อมูลนั้นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ป้องกันการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในอุตสาหกรรมอื่นด้วย
นอกจากป้องกันการผูกขาด และการแข่งขันไม่เป็นธรรมของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ แล้ว คำสั่งประธานาธิบดีนี้ ยังหมายรวมถึงการป้องกันการผูกขาด และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ สาธารณะสุข คมนาคม การเกษตร อินเตอร์เน็ต ธนาคาร และการเงิน
โดยรวม โจ ไบเดน ต้องการทำให้ชาวอเมริกัน ได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น พร้อมกับค่าครองชีพที่ลดลง เพิ่มความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กจากการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม
ในคำสั่งประธานาธิบดียังยกตัวอย่างถึงการซื้อกิจการเพื่อฆ่าคู่แข่งทิ้งด้วยว่า การซื้อกิจการของบริษัทราว 5.3-7.4% เป็นการซื้อกิจการที่เข้าข่ายซื้อเพื่อฆ่าคู่แข่งในวงการเดียวกันทิ้ง
นอกจากนี้ โจ ไบเดน ยังได้กล่าวถึงประเด็นการแข่งขันในการทำธุรกิจด้วยว่า “ทุนนิยมที่ปราศจากการแข่งขัน นั่นไม่ใช่ทุนนิยม แต่เป็นการเอารัดเอาเปรียบ”
ตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากคำสั่งของโจ ไบเดนนี้ จะมีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง เช่น
-
- ลดค่าใช้จ่ายของยารักษาโรค โดยการนำเข้ายาคุณภาพดีราคาถูกจากแคนาดา
- ลดค่าใช้จ่ายการซื้อเครื่องช่วยฟัง ด้วยการวางขายเครื่องช่วยฟังในร้านขายยา
- ลดค่าใช้จ่ายการใช้อินเตอร์เน็ต ป้องกันการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกสัญญา
- ได้เงินคืนจากสายการบินง่ายขึ้น และระบุค่าธรรมเนียมอย่างตรงไปตรงมาเมื่อทำการจองเที่ยวบิน
- สิทธิ์ที่จะซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ผูกขาดกับการซ่อมเฉพาะในศูนย์บริการ (Right to Repair)
- เพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ผ่านการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม
ที่มา – bbc, whitehouse.gov
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา