สหรัฐ-จีนเริ่มหันหน้าเข้าหากัน: จีนพร้อมร่วมมือ สหรัฐพร้อมทบทวนนโยบาย

เมื่อสองมหาอำนาจโลกอย่าง Joe Biden และ Xi Jinping ยกหูโทรหากัน พวกเขาใช้เวลาคุยกันยาวนานถึง 90 นาทีเมื่อคืนวันพฤหัสที่ผ่านมา เขาคุยอะไรกัน?

Xi Jinping ผู้นำจีนบอกอะไรกับผู้นำสหรัฐฯ

Xi Jinping บอกว่า จีนพยายามปรับนโยบายตามสหรัฐอเมริกาตลอดมา จีนพร้อมให้ความร่วมมือทั้งในเรื่องเศรษฐกิจโลกและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแต่ก็คิดว่าสิ่งที่จำเป็นก็คือการเคารพต่อหลักการที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญต่อกัน

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้า Xi Jinping มาแนวนี้ก็คือการดีลกับประเทศอื่นโดยให้ประเทศนั้นๆ เคารพซึ่งหลักการที่จีนยึดถือแบบที่เคยเป็นมา เช่น หลักการจีนเดียวไปจนถึงไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ถ้าย้อนกลับไปนับตั้งแต่ Biden ขึ้นมา เราจะเห็นว่า Biden มีท่าทีย้อนกลับนโยบายจีนทั้งหมด ทั้งเรื่องการต้องการตรวจความโปร่งใสและที่มาของโควิดระบาดในจีน การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ประเด็นความมั่นคงในฮ่องกง ไต้หวัน ทะเลจีนใต้ ไปจนถึงเรื่องโจรกรรมไซเบอร์ ฯลฯ ที่ Biden พร้อมต่อกรกับจีนเรื่อยมา

Xi ย้ำว่า ทั้งสองประเทศจำเป็นที่จะต้องทำให้ความสัมพันธ์กลับมาปกติ หรือเรียกว่าทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายเข้าร่องเข้ารอยเสียที สิ่งนี้ Xi พยายามจะสะท้อนให้เห็นว่าการมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองฝ่ายนั้นสำคัญและจำเป็นหลังจากที่ความสัมพันธ์ย่ำแย่และเสื่อมโทรมที่สุดในช่วงที่ Donald Trump ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

โลกระส่ำระสายจากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ทั้งการปะทะระหว่างกันจนนำไปสู่สงครามการค้าที่ทำให้เกิดการขึ้นภาษีการค้าโต้กลับกันไปมา ไปจนถึงการโจมตีกันหลายต่อหลายเรื่องก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า การสื่อสารกันแบบปกติระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ส่วนการประชุม G20 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่จะจัดขึ้นที่โรม อิตาลีนั้น Xi ยังไม่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้กลุ่ม G7 ก็รวมตัวผลักดันนโยบายต้านจีนอย่างชัดเจนมาก่อนหน้า

xi jinping

Joe Biden ก็หาทางสานสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับ Xi Jinping

เป้าหมายของ Biden คือการทำให้ความสัมพันธ์กับ Xi Jinping ดีขึ้นจนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความร่วมมือได้ทั้งสองฝ่าย โดย Biden เองก็พยายามอธิบายถึงเจตนาแต่ละการกระทำที่สหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีต่อจีนไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าจีนอาจจะตีความผิดและเข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายแย่ลง

สหรัฐฯ พยายามจะทบทวนนโยบายที่มีต่อจีนทั้งหมด รวมถึงประเด็นเรื่องการขึ้นภาษีสินค้าจีนราว 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยทรัมป์และส่งผลให้การนำเข้าและความตกลงทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายค่อนข้างมีปัญหา ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทาง John Kerry ได้หารือกับ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ด้าน Wang Yi ก็เคยกล่าวไว้ว่าสหรัฐฯ ควรจะดำเนินนโยบายที่แบ่งรับแบ่งสู้กับทางจีน เพื่อที่จะผลักดันท่าทีเชิงบวกและทำให้ความสัมพันธ์กลับคืนสู่สถานะปกติได้

ถ้ามองย้อนกลับไป อาจเรียกได้ว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างมีประเด็นที่แย้งและสวนทางกันตลอดเวลา ทั้งอุดมการณ์และหลักการที่แตกต่างกันแต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันรุนแรงมากเท่าสมัยทรัมป์เป็นผู้นำประเทศ แม้แต่ประเด็นอัฟกานิสถานที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศก็ยังมีจุดยืนที่แย้งกัน สหรัฐฯ เองก็อยากให้จีนร่วมกันกดดันอัฟกานิสถาน ขณะที่จีนเองก็อ้างว่าอยากให้สหรัฐฯ ยังคงบทบาทเพื่อเกี่ยวพันกับอัฟกานิสถานอยู่ เพื่อช่วยให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพและต่อสู้กับการก่อการร้ายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อไป

Joe Biden
President Joe Biden delivers remarks on COVID-19 and the economy, Thursday, July 29, 2021, in the East Room of the White House. (Official White House Photo by Erin Scott)

สรุป

การเจรจาทางไกลระหว่าง Xi Jinping และ Joe Biden นี้ อย่างน้อยก็ช่วยฟื้นฟูบรรยากาศสานสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายที่เริ่มดีขึ้น แม้เราจะเห็นว่าประเด็นแต่ละเรื่องที่หยิบยกมานั้น โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง การเมืองระหว่างประเทศ ประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายมีท่าทีและจุดยืนที่แตกต่างกันตลอดเวลา จึงเป็นไปได้ยากที่จะคาดหวังให้ดำเนินนโยบายไปในแนวทางเดียวกันได้ เว้นแต่จะคงความร่วมมือที่สานประโยชน์ทั้งสองฝ่ายได้โดยที่โลกไม่เดือดร้อนไปด้วยเช่นที่เคยเป็นมา

เราจะเห็นว่าสงครามการค้าที่มีการแข่งขันกันขึ้นภาษีโต้กลับกันไปมาในสมัยที่ทรัมป์เป็นผู้นำประเทศ โลกสั่นสะเทือนจากนโยบายดังกล่าวค่อนข้างมาก ทำให้หลายบริษัทต้องทบทวนฐานการผลิตใหม่ ต้องย้ายบริษัทเพื่อไปทำมาหากินอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีโต้กันของทั้งสองฝ่ายในอัตราที่น้อยลงหรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่สมรภูมิรบทำให้อัตราภาษีมากไปกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น การหันหน้ามาเจรจากันไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลากมิติให้ดีขึ้น อาจช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายหันมาแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้นได้

ที่มา – Bloomberg, Wall Street Journal, South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา