สำรวจความเห็นคนไทยมี “ความสุข” ในการทำงาน และ กลยุทธ์ที่บริษัทต่างๆ ควรรู้

ความสุขในการทำงาน คือ ปัจจัยสำคัญทั้งกับองค์กรที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ และสำคัญกับตัวพนักงานด้วย ดังนั้นการสำรวจว่าพนักงานมีความสุขดีหรือไม่ ยังขาดอะไร ต้องการอะไรเพิ่มเติม คือสิ่งที่นายจ้างและบริษัทควรให้ความสำคัญ เพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้กับบริษัท หรือเพื่อดึงดูดให้พนักงานใหม่ที่ดีเข้ามาร่วมงาน

รู้หรือไม่ว่าพนักงานส่วนมากเชื่อมั่นว่า ชีวิตการทำงานต้องดีกว่าเดิม และทางเลือกคือ “เปลี่ยนงานใหม่” โดยเฉพาะเมื่อไม่มีความสุขกับการทำงาน ดังนั้น JobsDB เลยสำรวจดัชนีความสุขของพนักงาน ประจำปี 2016 ได้อย่างน่าสนใจ

สร้างความสุขในที่ทำงาน คือ ส่วนสำคัญ

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ ของ JobsDB บอกว่า จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,957 คน มีคะแนนความสุขเฉลี่ย 5.74 (จากคะแนนเต็ม 11) ทำให้ไทยเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่คนทำงานมีความสุขกับงานที่ทำ รองจากฟิลิปปินส์ (6.25) และอินโดนีเซีย (6.16) นอกจากนี้การสำรวจนี้ยังสอบถามถึงมุมมองของผู้ตอบแบบสอบที่มีต่อความสุขในการทำงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ ที่ระดับ 5.66 ถือว่าใกล้เคียงกับปัจจุบัน

สำหรับไทย พบว่าทุกๆ 100 คน จะมี 61 คนที่มีทัศนคติด้านบวกกับงาน พนักงานที่มีความพึงพอใจต่องานมากที่สุดคือกลุ่มที่ทำงานปัจจุบันมาประมาณ 3-5 ปี ในทางตรงกันข้ามพนักงานที่ให้คะแนนความสุขต่ำที่สุดเป็นพนักงานที่เพิ่งเริ่มงาน (ส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรมาน้อยกว่า 1 ปี)

และจากการสำรวจพบ 4 ปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในที่ทำงาน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสถานที่ทำงานที่เดินทางสะดวก และทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตนเองต้องการ ความมีชื่อเสียงขององค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ของประเทศและลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ในสังคมของคนไทย

ถ้าไม่มีความสุข ก็ลาออก เพื่อหาโอกาสใหม่

ปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขถึงขั้นลาออก คือ การมีผู้นำที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุขแต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะอยู่ด้วยความภักดีต่อองค์กรหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

34% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน อีก 19% เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน ในขณะที่ 8% บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง

แสดงว่าถึงแม้ความสุขจากการทำงานคือ การได้รับโอกาสก้าวหน้าและพัฒนาศักยภาพ แต่ปัจจัยพื้นฐาน คือ งานใหม่ที่ดีกว่า หรือหากได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือเลื่อนตำแหน่ง ก็ยังทำให้พนักงานคงอยู่กับบริษัทต่อไป

สรุป

บริษัทต่างๆ ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเพิ่มระดับความสุขให้พนักงาน สร้างความผูกพันกับองค์กร รักษาบุคลากรที่มีคุณภาพและดึงดูดพนักงานใหม่ ขณะที่พนักงานก็ต้องเรียนรู้ที่จะวัดระดับความสุขของตัวเอง รวมถึงการมองหางานใหม่หากองค์กรไม่สามารถตอบความต้องการได้ ตรงกับแนวคิด “งานที่ดีกว่าคืองานที่มีความสุข”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา