เรียนรู้การทำงานของคนแต่ละประเภท Introvert Extrovert และ Ambivert ต่างกันอย่างไร

photo : pixabay

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า Introvert และ Extrovert กันมาบ้างแล้วจากการทำแบบทดสอบอย่าง MBTI โดยการแยกประเภทของของบุคคลนั้น หลายครั้งเราก็นำมาเป็นหนึ่งส่วนในการการปรับปรุงของทีมทำงาน รวมถึงพนักงานในองค์กร รวมทั้งยังสามารถประประยุกต์ใช้กับการทำวิจัยที่ต้องใช้ความหลากหลายของบุคคลเป็นองค์ประกอบด้วย แต่เมื่อเรามาพูดถึง Ambivert หลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่คุ้นเพราะเป็นคำที่อาจจะค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับ 2 คำก่อนหน้านี้ หากจำกัดความสั้นๆ ของบุคคลประเภทนี้อาจจะบอกได้ว่าเป็นตรงกลางระหว่าง Interovert และ Extrovert ความน่าสนใจของกลุ่มคน Ambivert จึงเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลของคนสองประเภทในคนๆ เดียว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่มนี้เพื่อเรียนรู้และเข้าใจเมื่อต้องทำงานร่วมกัน 

Introvert  (คนเดียวก็ไม่แย่เท่าไหร่)

photo : pixabay

ลักษณะ : ชอบทำงานคนเดียวมากว่างานกลุ่ม, ไม่ชอบการเริ่มต้นบทสนทนากับใครก่อน, ไม่ชอบเวลาที่สังคมต้องจับจ้องตัวเรา, รู้สึกเหนื่อยเมื่อต้องปะเจอคนหมู่มาก, รักสันโดษ, จะผ่อนคลายมากกว่าหากได้ทำงานที่ไม่ต้องพูดคุยกับคนอื่นมากมาย

งานที่เหมาะกับคน Introvert : ด้วยความรักอิสระและมักจะทำงานคนเดียวหรือกับกลุ่มที่สนิทกันเท่านั้น ดังนั้นคน Introvert จึงมักจะอยู่ในสายงานที่ได้อยู่กับตัวเอง ใช้สมาธิ งานด้านการวิเคราะห์ งานด้านการวิจัยเชิงลึก ด้านการศึกษาและทดลอง รวมถึงงานด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะ งานที่ใช้อิสระด้านความคิดและการตีความ

การทำงานร่วมกับคน Introvert : แม้ว่ากลุ่มคน Introvert มักจะถูกหลายคนมองว่าทำงานร่วมด้วยยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานร่วมกับพวกเขาไม่ได้เลย แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจให้พวกเขาได้กล้าพูดในที่สิ่งที่พวกเขาอยากจะสื่อสารออกไป หากพวกเขาได้เปิดใจให้กับใครรับรองได้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวได้แน่นอน ไม่พยายามผลักให้พวกเขาต้องออกมายืนอยู่เบื้องหน้าคนเดียวหากพวกเขาไม่ต้องการ ไม่บังคับให้ต้องแสดงความคิดเห็นหรือคาดคั้นคำตอบจากพวกเขาในทันที ถ้าเป็นเกมฟุตบอลพวกเขาคือกองหลังที่พร้อมจะอุดรอยรั่วและกระชับเกมให้ไม่มีข้อผิดพลาด รวมทั้งคอยช่วยเหลือกองหน้าในจังหวะที่ต้องการการสนับสนุน ดังนั้นกลุ่มคน Introvert จึงไม่ใช้กลุ่มคนที่ไม่น่าทำงานร่วมแต่อย่างใด กลับกันพวกเขาจะคอยช่วยเหลือคุณ เป็นคำสำคัญในทีมที่คอยสนับสนุนทุกคนเพื่อผลักดันทีมออกมาให้ดีที่สุด 

Extrovert (โดดเด่นท่ามกลางผู้คน)

photo : pixabay

ลักษณะ : ร่าเริง อยู่เสมอ, ชอบการอยู่ในที่ที่รายล้อมไปด้วยผู้คน, พลังงานเหลือล้นแม้ต้องเจอคนเยอะแค่ไหนก็ตาม, เริ่มบทสนทนากับใครได้ง่าย กล้าที่จะเข้าไปทักทายผู้คน, ช่างพูด ช่างเจรจา มีวาทะคมคาย, ชื่นชอบที่จะทำให้มีคนสนใจหรืออยู่ท่ามกลางสปอตไลท์, มีความมั่นใจในตัวเองสูง 

งานที่เหมาะกับคน Extrovert : เนื่องจากความชอบที่จะพบปะคนหมู่มาก และชอบการเข้าสังคม ดังนั้นงานส่วนใหญ่ที่คน Extrovert มักจะเลือกทำหรือเหมาะกับคนประเภทนี้จึงเป็นงานที่ใช้ทักษะการเข้าสังคม การพูดโน้มน้าวใจ การติดต่อประสานงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ เพราะต้องใช้ทักษะการสื่อสาร การสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาศักยภาพบุคคล 

การทำงานร่วมกับคน Extrovert : กลุ่มคน Extrovert ด้วยความที่มีความเป็นผู้นำสูง ต้องการโดดเด่นขึ้นมาจากผู้อื่น การทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้เราไว้ใจพวกเขาในเรื่องความกล้าแสดงออกและการพูดต่อสาธารณะได้เลย มักจะคอย Cheer up เพื่อนร่วมทีมบ่อยๆ อาจจะต้องระวังไม่ให้ความมั่นใจนั้นมากเกินไปหรือทำเพื่อให้ตัวเองเด่นและรอดอยู่คนเดียว บางครั้งความอารมณ์ดีก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นการพูดไม่คิด หรือความทีจริงทีเล่นจนทำให้คนอื่นๆ รู้สึกอึดอัดได้ รวมถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจนำมาซึ่งข้อมูลที่มากมาย รับข้อมูลจากหลายฝ่าย อาจทำให้เกิดการตัดสินใจพลาดขึ้นได้ 

Ambivert (ความสมดุลที่ปรับเปลี่ยนได้)

photo : pixabay

ลักษณะ : ปรับเปลี่ยนการแสดงออกได้ตามสถานการณ์ที่เผชิญอยู่, สื่อสารกับผู้อื่นได้ดีและรับฟังผู้อื่นได้ดีเช่นกัน, มีพื้นที่ส่วนตัวในบางเวลาแต่ก็ยังต้องการเข้าสังคมเช่นกัน 

งานที่เหมาะกับคน Ambivert : เนื่องจากความยืดหยุ่นและการปรับตัวได้ตามสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้นเหล่า Ambivert จึงมักจะกระจายอยู่ตามสายงานต่างๆ มากกว่ากระจุกอยู่กับกลุ่มงานใดกลุ่มงานหนึ่ง ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและความชอบส่วนตัวของตัวบุคคลนั้นว่าชื่นชอบที่จะทำงานในสายงานใด 

การทำงานร่วมกับคน Ambivert : ด้วยความที่คนกลุ่มนี้จะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามสถานการณ์ อาจจะเป็นส่วนที่ช่วยผสานคน Introvert และ Extrovert ให้เข้าหากันได้ในองค์กร ดังนั้นการทำงานร่วมกับพวกเขาค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับคน Extrovert ที่ลดดีกรีลงมานิดนึงและแฝงความคิดมากมาด้วย รวมถึงแต่ละบุคคลมีความสมดุลที่ไม่เท่ากันหากต้องการฝากความคาดหวังไว้ที่พวกเขาเพราะคิดว่าพวกเขาจะต้องปรับตัวได้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ 

photo : pixabay

นี่เป็นเพียงรายละเอียดเบื้องต้นเท่านั้นของการทำความรู้จักกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งการที่คุณเป็นคนในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ เราทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นรู้จักตัวเองให้มากพอที่จะใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข 

ที่มา : Wongnai, ananda.co.th, ananda.co.th

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา