การใช้ชีวิตของคนทั่วโลกมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายๆ กัน คือการพยายามเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในเมือง เพราะมีโอกาสทางอาชีพ และรายได้ที่มากกว่า แต่สำหรับคนที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว บางครั้งการเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองใหญ่คงกลายเป็นเรื่องยาก ด้วยค่าครองชีพที่สูง แต่รายได้เฉลี่ยที่ต่ำกว่าคนจบปริญญาตรี
ปัญหาค่าครองชีพไม่เหมาะสมกับรายได้ของคนที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะความจริงแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน เมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวอเมริกันที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีสามารถหางาน มีรายได้ และใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ของประเทศได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ในปัจจุบันเรื่องราวทั้งหมดเริ่มเปลี่ยนไป เพราะงานสำหรับคนที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีกำลังหายไปเรื่อยๆ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มคนผิวดำ และคนละตินอเมริกัน
งานทั่วไปๆ ลดลง แต่งานทักษะเฉพาะเพิ่มขึ้นมาก
ปัญหานี้นับว่าเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจการศึกษาของชาวอเมริกัน พบว่า ส่วนใหญ่ชาวอเมริกันเพียง 33.4% เท่านั้น ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า แสดงให้เห็นว่าปัญหางานสำหรับคนที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่หายไปในเมืองใหญ่ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชาวอเมริกันจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า 28% เพิ่มขึ้นเป็น 33.4% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงานในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่สูงขึ้น โดยงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้การศึกษาในระดับปริญญาตรี (เช่น งานประเภทแคชเชียร์ และบุรุษไปรษณีย์) มีสัดส่วนที่ลดลงจาก 58% ในปี 1981 เหลือเพียง 44% ในปี 2011
David Autor นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย MIT เล่าว่า ในอดีตคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีสามารถทำงานภายในโรงงาน หรือบริษัทต่างๆ ร่วมกับคนที่มีการศึกษาสูงกว่าได้ โดยจะเกิดการเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวกับการทำงานไปด้วยในตัว แต่ในปัจจุบันงานประเภทนี้มักเป็นงานภายในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืองานที่เกี่ยวกับการดูแลความสะดวกสบายให้ผู้อื่น ซึ่งเป็นงานที่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะน้อยกว่า เมื่องานที่ทำมีโอกาสในการพัฒนาทักษะน้อยกว่า และเป็นงานแบบทั่วๆ ไป ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน ทำให้โอกาสในการก้าวขึ้นไปทำงานในตำแหน่งสูงๆ น้อยลง รวมถึงแนวโน้มค่าตอบแทนก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ผลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ยังพบด้วยว่า ค่าตอบแทนของคนที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี 1980 ถึงปี 2015 มีแนวโน้มลดลง 6 ใน 8 เมือง คนผิวขาวรู้สึกว่าค่าจ้างของตัวเองลดลง 7% ส่วนคนผิวดำและคนละตินอเมริกา สู้สึกว่าค้าจ้างของตัวเองลดลง 12-15% โดยมีคนที่เลื่อนตำแหน่งไปทำงานสำหรับระดับการศึกษาที่สูงกว่าไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อโอกาสในการหางานของคนที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีลดลง ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนใจไม่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อหางานทำอีกต่อไป เพราะรายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ และค่าเช่าที่พักอาศัยในเมืองใหญ่
เพิ่มค่าแรงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
หนึ่งในทางออกของปัญหาที่ Autor เสนอ คือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของงานที่ต้องการการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เนื่องจากจะช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่ไม่เหมาะสมกับรายได้ของงาน แต่อย่าลืมว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทและผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัญหาการจ้างงานในเมืองใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อแรงงาน แต่อย่าลืมว่าในทางตรงกันข้ามก็มีข้อดีสำหรับคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีเช่นกัน เพราะ ในเมืองเล็กๆ เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศจะมีโอกาสสำหรับการหางานที่เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ของประเทศอีกต่อไป
ที่มา – Fastcompany, thehill, BLS
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา