เปิดตัว JK ธุรกิจบริหารหนี้สินที่เกิดจากการร่วมทุน 10,000 ล้านบาท ระหว่าง JMT และ KBank

บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank จัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในชื่อ JK AMC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท เร่งเก็บหนี้มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาทภายในปี 2022 ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจนี้ในปี 2025

jk amc

JMT กับ KBank ผสานความแข็งแกร่ง

จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด และปัญหาสงคราม กับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มีแนวโน้มสูงขึ้น การจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC จึงถูกมองเป็นอีกวิธีแก้ไข

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ KBank เล่าให้ฟังว่า เป็นเรื่องปกติที่ธนาคารวางเป้าหมายเติบโตในเรื่องรายได้ แต่ด้วยความเข้มงวดในเรื่องสินเชื่อทำให้การเติบโตทำได้ลำบาก ทำให้ธนาคารต้องหาช่องทางการเติบโตด้วยวิธีอื่นซึ่งหนึ่งในนั้นคือการหาวิธีนำหนี้เก่ามาบริหารใหม่ผ่านวิธี JV AMC

“เราร่วมมือกับ JMT หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของธุรกิจนี้เพื่อจัดตั้ง JK AMC เพราะยิ่งปล่อยหนี้ให้รอนานเงินมันก็ยิ่งไม่มา เมื่อ JMT เชี่ยวชาญก็น่าจะช่วยเพิ่มมูลค่า และลดอัตราการเกิด NPL ได้ดีกว่า โดยเฉพาะหนี้บ้าน , หนี้รถ และหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ที่สำคัญการขายหนี้ NPL มันยาก การร่วมมือกับ JMT เพื่อจัดการเรื่องนี้ด้วยกันจึงดีกว่า”

เจาะลึกบริษัท JK และโมเดลธุรกิจหลังจากนี้

สำหรับชื่อเต็ม ๆ ของ JK AMC คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด โดยฝั่ง KBank จะถือหุ้นในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะเป็น JMT เบื้องต้นเดือน มิ.ย. 2022 JK AMC จะได้รับหนี้สินมูลค่ารวม 30,000 ล้านบาทจาก KBank และภายในปีนี้จะได้หนี้สินมาอีก 20,000 ล้านบาท รวมบริหารทั้งหมด 50,000 ล้านบาท

ส่วนรายได้จะรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดย KBank จะได้รายได้จากการขายหนี้สินให้กับ JK AMC ตามที่ตกลงไว้ และเมื่อ JV AMC สามารถจัดเก็บหนี้สินเหล่านั้นได้สำเร็จ กำไรที่เกิดขึ้นจะแบ่งกันระหว่าง KBank และ JMT หากขาดทุนจากหนี้สินเหล่านั้นทั้งคู่จะแบ่งรับกันขาดทุนเช่นกัน

“เราต้องการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อให้เครดิตของพวกเขากลับมาดีชึ้นอีกครั้ง ทำให้ต่อไปเราเตรียมร่วมมือกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ Credit Bureau เพื่อให้เขาเปลี่ยนบัญชีแดงเป็นบัญชีแดงด้วย โดยตอนนี้การจัดการหนี้สินของเรามีทั้ง KBank บริหารจัดการเอง, นำหนี้เหล่านั้นออกไปประมูล และขายให้กับ JK AMC ในอนาคต”

ขึ้นสู่ AMC อันดับ 1 ด้วยการบริหารหนี้ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ JK AMC วางแผนขึ้นสู่อันดับหนึ่งในธุรกิจ AMC ด้วยการบริหารหนี้สินรวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2025 โดยปัจจุบันอันดับ 1 ของตลาดในช่วงไตรมาส 1 ปี 2022 บริหารหนี้สินอยู่ราว 1.24 แสนล้านบาท อาศัยจุดแข็งเรื่องความร่วมมือกับธนาคาร และไม่เคยมีธนาคารใดขายหนี้จำนวนมากขนาดนี้ในคราวเดียวมาก่อน

อย่างไรก็ตาม JK AMC มีอายุตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ แค่ 15 ปี ถือเป็นความท้าทายในการเร่งมือให้ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญของ JMT ที่ทำธุรกิจบริหารหนี้สินให้กับกลุ่ม JMART มานานกว่า 30 ปี จะช่วยลดการบริหารหนี้สินจากเดิมที่จะจบ 7-20 เป็น เป็น 6-12 ปี

JMT มีทีมงานกว่า 3,000 คนที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารหนี้สิน เน้นการจูงใจให้ชำระด้วยโปรโมชัน และรูปแบบการชำระที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้สำเร็จ และกลับมาอยู่ในระบบได้อีกครั้ง ในทางกลับกันยังช่วยให้ธนาคารลดภาระหนี้ที่ถือไว้ได้สำเร็จ

สรุป

หลังจากมีข่าวหลุดมานานในที่สุดความร่วมมือระหว่าง JMT และ KBank ก็เกิดขึ้นจริง และถือเป็นดีลที่น่าสนใจ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ชัดเจน กล่าวคือ KBank ได้เคลียร์หนี้ที่ตัวเองถือไว้ และได้รายได้กลับมาทั้งจากการขายหนี้ และปันผลของ JK AMC ส่วน JMT ก็อาศัยความเชี่ยวชาญติดตามหนี้สินเพื่อสร้างรายได้จากหนี้ก่อนใหญ่ในราคาที่ธุรกิจใดก็ยากจะเข้าถึง

อ้างอิง // JMT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา