หรือจะหมดยุค Jimmy Choo หลังแบรนด์รองเท้าส้นสูงชื่อดังประกาศหาคนมาซื้อกิจการต่อ

Jimmy Choo คือแบรนด์รองเท้าในฝันของสาวหลายๆ คน เพราะด้วยความสวย และศิลปินดารา รวมถึงราชวงศ์ต่างสวมใส่ แต่ทำไม Luxury Brand รายนี้ถึงตัดสินใจขายธุรกิจให้กับผู้ที่สนใจล่ะ

ภาพโดย Richalbertoa (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

ต้องการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น

เหตุผลที่ Jimmy Choo ตัดสินใจประกาศขายธุรกิจให้ผู้ที่สนใจ เพราะต้องการเพิ่มคุณค่าสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น (Maximize Value of its Shareholders) หลังจากเข้าระดมทุนใน London Stock Exchange ในปี 2557 แต่มูลค่าหุ้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็ตกลงมาเหลือราว 1 ปอนด์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการประกาศขายธุรกิจครั้งนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ให้ผู้สนใจเข้ามาติดต่อ และอาจจะเลิกประกาศขายเมื่อไหร่ก็ได้ โดยมูลค่าตลาด (Market Value) ในปัจจุบันของ Jimmy Choo อยู่ราว 700 ล้านปอนด์ และปี 2559 ปิดรายได้ที่ 364 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% และตัวเลขดังกล่าวยังลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ที่เคยเติบโต 12%

ในทางกลับกันถึงยอดขายโดยรวมจะหดตัว แต่ตลาดจีน, ตะวันออกกลาง และรัสเซียยังมีแรงซื้อสินค้าแบรนด์นี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเป็นที่นิยมในศิลปินดารา และราชวงศ์ยังทำได้ดีอยู่ ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของ Luxury Brand รายนี้ที่จะขายธุรกิจเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผู้ถือหุ้น

เจ้าหญิงไดอาน่าก็สวมใส่ Jimmy Choo // ภาพจาก jimmychoo.com

เพราะผู้ก่อตั้งโบกมือลาจึงมีปัญหา

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Jimmy Choo ในปัจจุบันคือ JAB Holding กลุ่มเศรษฐีพันล้านของครอบครัว Reimann จากเยอรมัน ที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 68% ส่วนทางทีมผู้ก่อตั้งเดิมก็ทยอยออกไปทำแบรนด์ตัวเอง และไม่ได้เข้ามาบริหารงาน โดยทางบอรด์บริหารได้แต่งตั้ง Pierre Denis ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารตั้งแต่ปี 2556

สำหรับ Jimmy Choo ก่อตั้งเมื่อปี 2539 โดยนักทำรองเท้าชาวมาเลเซีย Jimmy Choo กับ Tamara Mellon อดีตนักข่าวนิตยสาร Vogue วางตัวเป็นแบรนด์รองเท้าจากประเทศอังกฤษ และด้วยความโดดเด่นของรองเท้าส้นสูงทำให้ศิลปินดาราหลายคนเลือกที่จะใส่เดินในงานสำคัญต่างๆ เช่นประกาศรางวัลออสการ์เป็นต้น

ขณะเดียวกันทาง Luxury Brand รายนี้ก็ไม่ได้ผลิตแค่รองเท้าส้นสูงอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีการทำตลาดสินค้า Luxury อื่นๆ เช่นกระเป๋าถือ และแว่นกันแดด รวมถึงเตรียมทำตลาดรองเท้าผู้ชายอีกด้วย ผ่านการมีหน้าร้านทั้งหมด 150 แห่งทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า Luxury Brand ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ใช่ว่าจะกินบุญเก่าได้ตลอดไป

สรุป

ในวงการแฟชั่นไม่มีอะไรยั่งยืน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การอยู่กับที่เท่ากับพ่ายแพ้ในตลาดนี้ แต่เชื่อว่า Jimmy Choo ไม่น่าจะหายไปจากตลาดง่ายๆ เพราะการเปิดขายกิจการครั้งนี้ไม่น่าจะแสดงถึงการล่มสลายของแบรนด์ แต่เป็นการต่อยอดแบรนด์ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำเงินมาสร้างอะไรใหม่ๆ มากกว่า

อ้างอิง // Business Insider, The Sun, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา