JD.com และ Bilibili บริษัทเทคจีน ส่งจดหมาย ‘จบการศึกษา’ แทนจดหมายเลิกจ้างแสดงความยินดี และแนะนำเส้นทางข้างหน้าให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง
บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังจากประเทศจีน 2 เจ้า ทั้ง JD.com บริษัทอีคอมเมิร์ซ และ Bilibili แพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการเลิกจ้างพนักงาน ส่งจดหมายแสดงความยินดีที่สำเร็จการศึกษา (Graduation) แทนจดหมายเลิกจ้างที่ถูกส่งถึงพนักงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง
ในกรณีของ JD.com ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในจีนหลายคนแชร์ภาพจดหมายเลิกจ้างลงในแพลตฟอร์ม โดยสิ่งที่น่าสนใจก็คือบริษัทเลือกที่จะจั่วหัวจดหมายว่าเป็นจดหมายแสดงความยินดี หรือ Graduation notice ซึ่งมีรายงานว่าจดหมายฉบับนี้มาจากฝ่ายบุคคลของบริษัทจริงๆ
นอกจากนี้ Business Insider รายงานว่า มีการยืนยันจากแหล่งข่าวว่าบริษัทมักจะใช้ข้อความเชิงบวกในการแจ้งพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เช่น “สุขสันต์วันสำเร็จการศึกษา! ขอแสดงความยินดีสำหรับการสำเร็จการศึกษาจาก JD.com และขอบคุณที่รวมเดินทางด้วยกันมา”
ส่วนในกรณีของ Bilibili มีรายงานว่าบริษัทใช้คำว่า วันสำเร็จการศึกษาจาก Bilibili หรือ Bilibili Graduation Day แทนการจั่วหัวตรงๆ ว่าเป็นจดหมายเลิกจ้าง โดยในจดหมายมีการระบุถึงสิ่งที่ผู้ที่ถูกเลิกจ้างสามารถเตรียมตัวสำหรับก้าวใหม่ในอาชีพการงานเพื่อช่วยเหลือให้การเลิกจ้างราบรื่นที่สุด โดยจดหมายของทาง JD.com ก็ระบุถึงสิ่งเหล่านี้เอาไว้เช่นกัน
ยาหอมสำหรับความจริงที่โหดร้าย
หลายๆ คนวิจารณ์ถึงเรื่องนี้ในโลกออนไลน์ โดยมีความเห็นจากผู้ใช้ Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนรายหนึ่งกล่าวว่า “มันไม่น่าขำหรอที่คุณพยายามแสดงความยินดีกับใครบางคนที่คุณเพิ่งจะเลิกจ้างไป
Adrian Goh ผู้ก่อตั้ง NodeFlair บริษัทจัดหางานสายเทคโนโลยีชี้ว่า การเรียกการเลิกจ้างว่าเป็นการสำเร็จการศึกษาและแสดงความยินดีกับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเหมือนจะเป็นความพยายามในการลดทอนความเสียหายจากพนักงานที่อาจจะไม่พอใจแบบหนึ่ง แต่เรื่องนี้ก็เหมือนการอำพรางความจริงที่โหดร้ายไปกับบางสิ่งที่ดูดีและสร้างแรงบันดาลใจ
นอกจากนี้ Sixth Tone เว็บไซต์ข่าวจากจีนก็ได้ชี้ให้เห็นอีกว่าบริษัทเทคโนโลยีในจีนทั้งหลายกำลังมองหาทางที่จะแฝงพลังบวกเข้าไปกับการเลิกจ้างเพราะทุกวันนี้คนทำงานรุ่นใหม่ในจีนเริ่มที่จะตั้งคำถามกับงานในสายเทคโนโลยีที่โหดร้ายกันมากขึ้น
การเลิกจ้างครั้งใหญ่ จากการจับตาครั้งใหญ่ของรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมา ไม่เฉพาะ JD.com และ Bilibili เท่านั้นที่มีการเลิกจ้างพนักงาน เพราะบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นๆ เช่น Tencent Alibaba จนถึง Kuaishou ก็ได้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วหลายพันตำแหน่ง
สาเหตุสำคัญของเรื่องนี้คือการที่รัฐบาลจีนพยายามกระชับอำนาจเหนือบริษัทเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2020 โดยเริ่มตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การทำงานหนักแบบ 996 ไปจนถึงการละเมิดสิทธิผู้บริโภคกับบริษัท เช่น การผูกขาดของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้
จนในท้ายที่สุด ทางการก็ได้ผ่านกฎหมายต้านการผูกขาดออกมาโดยเพิ่มอำนาจรัฐบาลในการสอดส่องดูแลด้านความปลอดภัยของข้อมูล หรือง่ายๆ ก็คือบริษัทจะเก็บข้อมูลได้น้อยลงและมีความคล่องตัวน้อยลงนั่นเอง
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา