2 จังหวัดในญี่ปุ่นยกเลิกให้ผู้สอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายของรัฐระบุว่าตัวเองเป็นเพศอะไร

เรื่องวันสอบ GAT-PAT ในประเทศไทยนั้นกำลังเป็นประเด็นร้อนทีเดียว จึงอยากชวนมาศึกษาการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายของญี่ปุ่นบ้าง เพราะล่าสุดมี 2 จังหวัดของที่นั่นประกาศให้ผู้สอบไม่ต้องระบุว่าตัวเองเป็นเพศอะไรแล้ว

GAT-PAT
การสอบเข้ากับเรื่องเพศ // ภาพ pixabay.com

จากปัญหากดคะแนนเพศหญิง สู่การสนับสนุน LGBTQ

ก่อนหน้านี้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวนั้นเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศของผู้สมัครมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมีการกดคะแนนผู้สอบเพศหญิง ทำให้เรื่องเพศ กับการสอบเข้าเรียน และสมัครงานเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่โรงเรียนมัธยมปลายใน 2 จังหวัดนั้นตัดสินใจไม่ต้องให้ผู้สอบระบุเพศ

สำหรับ 2 จังหวัดดังกล่าวก็คือ Osaka และ Fukuoka โดยทั้งสองจังหวัดให้เหตุผลว่า ต้องการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ นอกจากนี้ยังมีจังหวัด Saga ที่คงช่องระบุเพศของผู้สอบเข้า แต่อนุญาตให้ผู้สอบไม่ต้องระบุว่าตัวเองเป็นเพศอะไร ซึ่งนโยบายนี้จะเริ่มขึ้นในปีการศึกษาใหม่ที่จะเริ่มในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

LGBTQ
ความดหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ // ภาพ pixabay.com

แม้จะมีเพียง 2 จังหวัดที่เดินหน้านโยบายดังกล่าวจากทั้งหมด 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ก็มี 14 จังหวัด เช่น Kanagawa และ Kumamoto ที่เตรียมยกเลิกการระบุเพศในการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายของรัฐภายในปี 2563 รวมถึงอีก 11 จังหวัดเช่น Kyoto และ Hokkaido ก็เตรียมยกเลิกเช่นกัน แต่ยังไม่ระบุเวลาแน่นอน

ปัจจุบันความหลากหลายทางเพศเริ่มถูกให้ความสำคัญในโรงเรียนญี่ปุ่นมากขึ้น เช่นโรงเรียนมัธยมต้นในจังหวัด Chiba ก็อนุญาตให้นักเรียนชายสวมกระโปรงได้ รวมถึงโรงเรียนมัธยมต้นใน Kanagawa ก็อนุญาตให้นักเรียนหญิงเลือกได้ว่าจะสวมใส่กระโปรง หรือกางเกงขายาว

ทั้งนี้การสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายกับนักเรียนญี่ปุ่นนั้นเรียกว่าสำคัญมาก เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานของที่นั่นระบุไว้แค่มัธยมต้น แต่ตัวตำแหน่งงานที่บริษัททั้งหลายนั้นต้องการคืออย่างน้อยวุฒิมัธยมปลาย ทำให้เด็กๆ ทุกคนต้องสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายให้ได้ และมันคงดีไม่น้อยที่จะสบายใจสอบ เพราะไม่ต้องระบุสถานะเพศของตัวเอง

สรุป

ส่วนตัวเชื่อว่าการสอบเพื่อเข้าศึกษาในแต่ละวุฒิที่ต้องการนั้นสำคัญกับชีวิตทั้งหมด ดังนั้นการทำให้ผู้สอบมีความสบายใจ และทุ่มเทกับการสอบให้เต็มที่คงเป็นเรื่องที่แต่ละสถาบันต้องทำให้ดีที่สุด ในทางกลับกันเมื่อมามองที่ประเทศไทย การระบุเพศคงยังเป็นเรื่องที่ต้องทำไปอีกนาน และไม่รู้ว่ามันจะหายไปเมื่อไร

อ้างอิง // Soranews24

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา