โควิดดิสรัปเกอิชาญี่ปุ่น ไม่มีงาน ขาดรายได้ ต้องปรับตัวให้บริการออนไลน์ผ่านแอปฯ Zoom

เกอิชา คือคำที่ใช้เรียกผู้หญิงชาวญี่ปุ่น ที่ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงชนิดต่างๆ ทั้งการพูดคุย เต้น การรำ การร้องเพลง ซึ่งถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของประเทศญี่ปุ่น แต่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้เกอิชาจำเป็นต้องปรับตัว ให้บริการลูกค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ เพื่อเอาตัวรอดในช่วงนี้

เกอิชาในประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่ลูกค้า ภาพจาก Shutterstock

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น การล็อคดาวน์ประเทศเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้การทำกิจกรรมบางอย่าง ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะกิจกรรมการสังสรรค์ในช่วงเวลากลางคืน รวมถึงเกอิชา ก็ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ

หน้าที่ของเกอิชา คือการให้บริการสร้างความบันเทิงให้ลูกค้า ทั้งการร้องเพลง การเต้น เล่นดนตรี การพูดคุยด้วยบทสนทนาที่แฝงไปด้วยความฉลาด บริการเทเหล้าสาเกให้ลูกค้าด้วยความอ่อนน้อม ซึ่งเกอิชาต้องมีทักษะด้านศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดังเดิม แต่ด้วยความเข้าใจผิดของชาวตะวันตก ที่เข้าใจว่าเกอิชาคือโสเภณีรูปแบบหนึ่ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่

เกอิชาปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์

เกอิชาหญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อว่า Chacha เล่าว่า ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ประเทศ งานเลี้ยงสังสรรค์เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นั่นทำให้เธอขาดรายได้ และต้องรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งที่โดยปกติแล้วช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน จะมีลูกค้าใช้บริการค่อนข้างมาก แต่หลังจากที่เธอเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการสู่ช่องทางออนไลน์ ทำให้เธอมีรายได้เข้ามาบ้างในช่วงนี้

Chacha เล่ารูปแบบการให้บริการของเกอิชาออนไลน์ว่า เธอนั่งคุกเข่าด้วยท่าทางเรียบร้อยบนพื้นไม้ เต้น รำ ด้วยความสวยงามเหมือนการทำงานปกติ แต่ผู้ชมกลับกลายเป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากเธอ ไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกันแบบแต่ก่อน รวมถึงมีผู้ชมที่เป็นผู้หญิง และครอบครัวมากขึ้นด้วย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่ใช้บริการ จะมีแต่ผู้ชาย

Tamaki Nishimura ผู้เริ่มทำโครงการเกอิชาออนไลน์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มจากความคิดที่ต้องการให้บริการลูกค้าจำนวนมากในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เดิมทีจะจัดขึ้นในปีนี้ แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นว่ากีฬาโอลิมปิกถูกยกเลิกไปแต่เกอิชาก็ยังสามารถให้บริการลูกค้าได้ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom เป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่กับศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ Nishimura ยังเล่าด้วยว่าเกอิชา จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลง และมีความหลากหลายมากขึ้นได้ เพราะค่าบริการที่ตั้งไว้ถูกลง เมื่อเทียบกับการให้บริการของเกอิชาปกติ โดย Chacha เล่าเสริมว่า เธอสามารถให้บริการกับลูกค้าที่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ได้ด้วย นอกเหนือจากลูกค้าที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ที่มา – Japantoday, Japan experience

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา