เจ้าของบุหรี่ Winston เหนื่อยหนัก หลังยอดขายในญี่ปุ่นตก-นวัตกรรมบุหรี่ไฟฟ้าตามคู่แข่งไม่ทัน

Japan Tobacco (JT) เจ้าของแบรนด์บุหรี่อย่าง Winston, Mevius และ Camel กำลังเหนื่อยหนัก หลังเจอวิกฤติในประเทศที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะขึ้นภาษี รวมถึงยังตามเทรนด์บุหรี่ไฟฟ้าของคู่แข่งไม่ทัน

คนญี่ปุ่น สูบบุหรี่
ภาพ pakutaso.com

เจอภาษีอีกตัวละเกือบบาทไปอีก 4 ปี

ภาษีบุหรี่เป็นหอกทิ่มแทงบริษัทยาสูบมาเป็นเวลานาน และคราวนี้ในญี่ปุ่นก็เตรียมเจอภาษีขึ้นอีก 3 เยน/ตัว (ราว 86 สตางค์) จากเดิมที่บุหรี่บรรจุซองละ 20 ตัวจะโดนภาษี 240 เยน (ราว 69 บาท) โดยการขึ้นภาษีครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. และกินเวลานานถึง 4 ปี

จึงไม่แปลกที่ JT จะต้องเร่งทำตลาดบุหรี่ไฟฟ้า และตลาดในต่างประเทศอย่างหนัก เพื่อช่วยมาชดเชยยอดขายในประเทศญี่ปุ่นที่อาจหายไปได้ เพราะบริษัทคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดขายในญี่ปุ่นน่าจะลดลงราว 20% ในแง่จำนวน แต่ด้วยงบประมาณวิจัย และพัฒนาสินค้าที่สูง ทำให้สุดท้ายผลกำไรอาจไม่เติบโตนัก

Masamichi Terabatake ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JT ยืนยันว่า ในปีนี้ยอดขายของบริษัทน่าจะเติบดต 4% เป็น 2.22 ล้านล้านเยน (ราว 6.3 แสนล้านบาท) เป็นยอดขายจากต่างประเทศ 1.32 ล้านล้านเยน (ราว 3.7 แสนล้านบาท) หรือเกินครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด ผ่านการทำตลาดมากกว่า 100 ประเทศ

บุหรี่ไฟฟ้า // ภาพ pixabay.com

บุหรี่ไฟฟ้ายังลำบาก เพราะเทคฯ ยังตาม

ขณะเดียวกันการทำตลาดบุหรี่ไฟฟ้าก็จะจริงจังมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งที่ Philip Morris International และคู่แข่งรายอื่นถือครองตลาดอยู่ เช่นการเร่งบุหรี่ไฟฟ้าแบรนด์ Ploom ที่ตั้งเป้าเติบโตกว่า 10% เป็น 80,000 ล้านเยนในปีนี้ ผ่านจุดเด่นเรื่องการให้ความร้อนได้สูงถึง 300 องศาเซลเซียส

“ผู้บริโภคต้องการรสชาติที่ดีกว่าเดิม รวมถึงสนุกกับประสบการณ์ใหม่ๆ ดังนั้นการใส่นวัตกรรมเข้าไปจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าทางรัฐบาลของญี่ปุ่นจะขึ้นภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อใด แต่ด้วยการลงทุนวิจัย และพัฒนาใช้เงินเยอะ ทำให้ผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 2561 อยู่ที่ 5.61 แสนล้านเยน (ราว 1.6 แสนล้านบาท) เท่าปีก่อน”

ทั้งนี้ในปี 2561 กำไรสุทธิของ JT อยู่ที่ 3.94 แสนล้านเยน (ราว 1.1 แสนล้านบาท) ถือเป็นการเติบโตในแง่กำไรครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยปีนี้บริษัทจะเข้าไปทำตลาดในประเทศรัสเซียมากขึ้น พร้อมมีแผนปรับขึ้นราคาในสหราชอาณาจักร เพื่อชดเชยกับยอดขายในประเทศที่หายไปได้

สรุป

การแข่งขันของอุตสาหกรรมยาสูบในระดับโลกยังค่อนข้างสนุก เพราะปัจจุบันมี “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามา ทำให้ทุกแบรนด์ต่างเร่งทำตลาดสินค้าตัวนี้ เพื่อตอบรับกับความต้องการผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และเมื่อเป็นสินค้าใหม่ ใครสามารถติดตลาดได้ก่อน การจะครองไปอีกระยะยาวก็มีโอกาสสูง

ส่วนในประเทศไทยเท่าที่สำรวจดู Japan Tobacco ที่เข้ามาจำหน่ายอย่างถูกต้องจะมีแบรนด์ Mevius และ Camel หากอ้างอิงราคาในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ตัว Camel จะอยู่ที่ซองละ 60 บาท ค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับ L&M รวมถึงกรองทิพย์ และใกล้เคียงกับแบรนด์ SMS อีกด้วย

อ้างอิง // Asian Nikkei Review, Japan Tobacco

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา