ทางการญี่ปุ่นปรับขึ้น “ภาษีเพื่อการบริโภค (Consumption Tax)” เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. เป็นวันแรก
โดยการปรับภาษีครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 10% สำหรับสินค้าและบริการเกือบทั้งหมด ยกเว้นอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าบางรายการยังคงเก็บในอัตราภาษีเดิม เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 5.7 ล้านล้านเยน โดยครึ่งหนึ่งจะนำไปสนับสนุนการศึกษาก่อนวัยเรียน ส่วนที่เหลือนำไปแบ่งเบาภาระหนี้สาธารณะ อุดหนุนสวัสดิการรัฐให้กับประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรลดต่ำลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อชดเชยการขึ้นภาษี เช่น การคืนเงิน 5% สำหรับการซื้อสินค้าโดยใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบของการขึ้นของภาษีรวมถึงช่วยผลักดันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และลดการพึ่งพาเงินสด
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
มาร์ติน ชูลซ์ นักวิจัยอาวุโส เชื่อว่า เศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นจะขยายตัว จากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของจีนและสงครามการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ของโลกต่ำลง
แม้ว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง แต่เศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นในปีหน้า เนื่องจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ
ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว
การขึ้นภาษีครั้งนี้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าเข้าสถานที่ และบริการต่างๆ แพงขึ้น ส่วนการซื้อสินค้ากลับประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถใช้สิทธิ “Refund” ได้อยู่แล้วจึงไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้
สรุป
แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% ซึ่งส่งผลให้สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น การใช้จ่ายของประชาชนจะลดลง แต่รัฐบาลก็มีมาตรการคืนเงิน 5% เมื่อชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอีกด้วย
อ้างอิง // BBC, JAPANTODAY
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา