ญี่ปุ่นยุคนี้ ราคาเหล็กถูกกว่าน้ำ แม้ผู้ประกอบการพยายามปิดเตาถลุงเหล็กเพิ่มก็ไม่ช่วย

เราอยู่ในยุคที่ “น้ำแพงกว่าเหล็ก”

ญี่ปุ่นยุคนี้ เหล็กถูกกว่าน้ำแล้ว ข้อมูลจาก Nikkei POS ที่รวบรวมข้อมูลยอดขายจากซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าอื่นๆ ทั่วประเทศ พบว่า ถ้าเทียบจากราคาเฉลี่ยของน้ำแร่บรรจุขวดปริมาณ 1 ลิตรจากซันโตรี่ มีราคาอยู่ที่ 156 เยน หรือประมาณ 35 บาท มีราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5%

Japan steel

ขณะที่ราคาจำหน่ายเหล็กแผ่นรีดเย็นในโตเกียว ขนาด 1.6 มิลลิเมรตร มีราคาประมาณ 141,500 เยนหรือประมาณ 32,000 บาทต่อตัน ราคาต่อกิโลกรัมจะเท่ากับราคาน้ำเปล่า 1 ลิตร อยู่ที่ 141.5 เยน หรือถูกกว่าน้ำประมาณ 15 เยน ส่วนเหล็กแผ่นรีดร้อนขนาด 1.6 มิลลิเมตร ราคาอยู่ที่ 117.5 เยนต่อกิโลกรัม ทั้งสองแบบราคาถูกกว่าปีที่แล้ว 4-6%

เหล็กถูกกว่าน้ำ เคยเป็นวลีในอุตสาหกรรมเหล็กมาก่อน ในช่วงที่อุตสาหกรรมเหล็กมีการแข่งขันสูงจนขายได้กำไรต่ำและกลายเป็นเรื่องปกติไป จากนั้นก็เกิดจุดเปลี่ยนขึ้นในช่วงปี 2020 ที่ผู้ผลิตเหล็กเริ่มหาทางเดินหน้าปฏิรูป

ตัวอย่างจาก Nippon Steel ได้ระงับหรือปิดเตา ยุติการถลุงเหล็กทั่วประเทศ ทำให้จำนวนเตาถลุงเหล็กลดลงจาก 15 เตา เหลือเพียง 10 เตาเมื่อดือนที่ผ่านมา ด้าน JFE Steel ก็ปิดเตาถลุงเหล็กไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมาเช่นกัน และเตรียมจะปิดเพิ่มอีกช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

ผลผลิตเหล็กดิบประจำปีของญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนรวม 110 ล้านตัน ลดลงราว 13 ล้านตัน หรือประมาณ 10% เทียบจากปี 2019 แม้จะมีความพยายามปิดเตาถลุงเหล็กไปบ้าง ลดการผลิตเหล็กไปบ้างเพื่อลดความรุนแรงจากการแข่งขันด้านราคา แต่ราคาเหล็กก็ยังถูกอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากการพยายามทำสงครามราคาของผู้ค้าเหล็ก และความต่อเนื่องจากการผลิตเหล็กล้นเกินมานาน

นอกจากนี้ การที่ผู้ค้าส่งเหล็กส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินใจกลางเมือง ทำให้พวกเขามีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์และไม่รู้สึกถึงผลกระทบจากวิกฤตการปรับโครงสร้างหรือการเลิกกิจการ แม้ธุรกิจหลักจะมีราคากำไรต่ำก็ตาม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหล็กยังเผชิญกับภัยคุกคามภายนอกที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและยานยนต์เพิ่ม 25%

ญี่ปุ่นไม่ได้แค่ส่งออกเหล็กอย่างเดียว แต่ยังนำมาแปรรูปภายในประเทศเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งสองทาง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

Atsushi Yamaguchi นักวิเคราะห์จาก SMBC Nikko ประเมินว่า ญี่ปุ่นผลิตเหล็กดิบ 83 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น 34.4 ล้านตันเพื่อส่งออกโดยตรงและ 20 ล้านตันเพื่อใช้ส่งออกทางอ้อมด้วย ถ้าทรัมป์ยังใช้มาตรการด้านภาษีต่อไป สถานการณ์ที่แย่ที่สุดก็คือ อาจจะต้องลดการผลิตเหล็กลง 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งก็รวมทั้งการส่งออกโดยตรงและส่งออกโดยอ้อมด้วย

ที่มา – Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์