ร้านขายเสื้อผ้ามือสองจากญี่ปุ่นบุกอาเซียน! ชูคุณภาพ-ราคาเข้าถึง หวังพยุงยอดขายในประเทศ

ในที่สุดร้านขายของมือสองจากญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น Treasure Factory และ Second Street ก็จะมาเปิดสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น หลังตลาดในประเทศเริ่มมีปัญหา เพราะสังคมผู้สูงอายุทำให้ผู้ซื้อสินค้าน้อยลง

ร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง // ภาพจาก Treasure Factory

เพิ่มช่องทางการขายสร้างการเติบโต

สินค้ามือสองอาจถูกมองข้ามจากสายตาของใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับคนญี่ปุ่นที่ค่อนข้างไว้ใจกับสินค้าที่เคยมีคนใช้แล้ว เพราะมีหน้าร้านจำหน่าย รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพที่ชัดเจน จึงไม่แปลกที่มูลค่าตลาดร้านจำหน่ายสินค้ามือสองในญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 นั้นสูงถึง 1.77 ล้านล้านเยน (ราว 4.8 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 7.4%

ที่สำคัญตัวตลาดยังมีการเติบโตติดต่อกันถึง 8 ปีซ้อน แต่ด้วยประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทำให้กลุ่มผู้ซื้อสินค้ามือสองนั้นลดลงโดยอัตโนมัติ ประกอบกับการเกิดขึ้นของร้านขายของมือสองบนโลก Online ที่มีคุณภาพ แถมจำหน่ายถูกกว่าหน้าร้านตามท้องถนนทั่วไป ก็ยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มร้านขายของมือสองเหล่านั้นต้องหาตลาดใหม่

ร้าน Treasure Factory // ภาพจาก Treasure Factory

ซึ่งสุดท้ายแล้วหวยก็มาออกที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากมีคนญี่ปุ่นย้ายมาอาศัย หรือทำงานเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้บริโภคในย่านนี้ยังค่อนข้างเชื่อใจในคุณภาพของสินค้าจากญี่ปุ่น แม้จะเป็นสินค้ามือสองก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือร้าน Treasure Factory

เน้นเสื้อผ้ามือสอง พร้อมขยายสาขาเป็น 8 แห่ง

“ทางบริษัทได้เข้ามาเปิดร้านขายสินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่น 2 สาขาในกรุงเทพแล้ว และมีแผนขยายเป็น 8 สาขาภายในปี 2564 โดยจะเน้นจำหน่ายเสื้อผ้ามือสองจากญี่ปุ่นให้กับกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี ผ่านราคา 500-1,000 เยน (ราว 150-300 บาท)” Eigo Nosaka ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Treasure Factory

ร้าน 2nd Street // ภาพโดย Kuha455405 [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons

สำหรับ Treasure Factory นั้นปัจจุบันมีหน้าร้านในญี่ปุ่นกว่า 180 สาขา และมีการวางระบบภายในร้านที่ชัดเจน เช่นจัดสินค้าแบบแบ่งหมวดหมู่ และมีทีมงานตรวจสอบสินค้ามือสองเพื่อการันตีคุณภาพ โดยในปีปฏิทิน 2561 นั้นบริษัทมียอดขายในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีปฏิทินก่อน

นอกจากนี้กลุ่ม Geo Holdings ผู้ให้บริการ Second Street ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นก็เพิ่งเปิดสาขาในมาเลเซียเมื่อเดือนมิ.ย. 2561 และมีแผนที่จะขยายเป็น 20 สาขา รวมถึงวางแผนให้มาเลเซียเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียใต้ แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมียอดขายในญี่ปุ่นกว่า 90 ล้านเยน (ราว 25 ล้านบาท)

ตลาดที่ทำกำไรได้ดี แต่ไม่ใช่เรื่อง่ายที่จะอยู่รอด

ขณะเดียวกัน Komehyo ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองที่เน้นกลุ่ม Designer Brand ก็มีแผนมาเปิดสาขาที่ปักกิ่งภายในสิ้นปีนี้ โดยตัวร้านจะแตกต่างจากตัวอย่างข้างต้น เพราะจะเน้นขาย และรับซื้อสินค้าระดับ Luxury เช่น Hermes และ Chanel ผ่านพนักงานจีนที่ต้องไปอบรมถึงญี่ปุ่นเพื่อให้บริการในระดับพรีเมียม

ส่วนร้านค้ามือสอง Online นั้น ในประเทศญี่ปุ่นก็มี Mercari ที่ชูจุดเด่นเรื่องราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านทั่วไป และสามารถเติบโตในสภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี แต่การจะออกมาทำตลาดนอกประเทศหรือไม่นั้น ทางบริษัทยังไม่ได้ตอบคำถามนี้ออกมา

ร้าน Mercari บนโลก Online

ทั้งนี้การจำหน่ายสินค้ามือสองนั้นค่อนข้างมีส่วนต่างกำไรสูง เพราะรับซื้อมาในราคาที่เหมาะสม แถมจำหน่ายในราคาเพิ่มขึ้นมาจากราคารับซื้อได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งทางผู้บริหารของ Treasure Factory นั้นยอมรับว่า กำไรขั้นต้นของธุรกิจนี้บางสินค้าก็สูงถึง 65% ซึ่งมากว่าการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ เสียอีก

สรุป

แม้หลายคนจะมองข้ามสินค้ามือสองไป แต่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การได้ของถูก แต่มีคุณภาพมาใช้งานก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย ส่วนใครที่อยากไปซื้อสินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ปัจจุบัน Treasure Factory ก็มีที่ย่านพระโขนง กับซ.สุขุมวิท 39 ใครสะดวกก็ไปซื้อกันได้นะครับ

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา