ถ้ามีการสำรวจอันดับนักการเมืองและประเทศที่ใส่ใจประชาชนอย่างที่สุด หนึ่งในนั้นต้องมีญี่ปุ่น เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สถานทูตญี่ปุ่นในวอชิงตันรับสายโทรศัพท์จากผู้นำประเทศ โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
จากนั้น ก็เริ่มมีการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างญี่ปุ่นกับสำนักงานใหญ่ที่ผลิตวัคซีนแบรนด์ Pfizer การต่อสายตรงดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีซูงะ อาจทำให้มองว่ามีการสับสนกัน ระหว่างหน้าที่นายกฯ กับกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการได้ ซึ่งเรื่องวัคซีนนี้ทางกระทรวงได้หารือกับ Pfizer ในญี่ปุ่นแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้ทำความตกลงกัน สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลให้ผู้นำประเทศมาก นายกฯ ซูงะรู้สึกว่าใช้เวลานานเกินไป จึงเจรจากับบริษัทผลิตยาโดยตรง
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซูงะประกาศว่า วัคซีนต้านโควิดจาก Pfizer น่าจะมีให้ใช้ได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังการหารือกับ Pfizer โดยตรง ทำให้ญี่ปุ่นสามารถรับวัคซีนได้ในเดือนมกราคมแทนที่จะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ หมายความว่าการเจรจาดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นได้รับวัคซีนใช้เร็วขึ้น โดยบุคลากรทางการแพทย์จะได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก ตามด้วยคนสูงวัยในเดือนมีนาคม และประชาชนทั่วไปจะรับวัคซีนได้ในเดือนเมษายนขึ้นไป
- รัฐสภาญี่ปุ่นไฟเขียว ให้ประชาชนฉีดวัคซีน COVID-19 ฟรีทุกคน แถมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ถ้าหากมีผลข้างเคียง
- ญี่ปุ่นเร่งซื้อตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ 10,500 ตู้ หวังเก็บวัคซีนรักษาประชาชน
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจจะให้วัคซีนแก่ประชาชนทั้งประเทศได้ภายในครึ่งแรกของปี 2021 ญี่ปุ่นคิดว่าจะได้รับวัคซีนเพียงพอสำหรับ 60 ล้านคนแรกจาก Pfizer และ 20 ล้านจาก Moderna ในเดือนมิถุนายน และอีก 60 ล้านคนจาก AstraZeneca
การฉีดวัคซีนนี้ญี่ปุ่นมีความระมัดระวังในการใช้งานค่อนข้างมากเพราะเคยมีประสบการณ์จากการฉีดวัคซีนโรคคางทูม โรคหัด โรคหัดเยอรมันมาแล้ว ผู้คนทั่วประเทศได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการฉีดวัคซีนในช่วงปี 1989 ราว 1,800 คน ทำให้รัฐบาลต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อเหยื่อที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว วัคซีน MMR จึงถูกระงับการใช้งานไปในปี 1993
นับตั้งแต่นั้นมา ญี่ปุ่นก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมพัฒนาวัคซีนด้วย ขณะเดียวกัน หลายประเทศก็เริ่มมีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น และยังมีความหวังว่าวัคซีนจะช่วยสกัดโควิดได้ด้วย ด้านสหรัฐอเมริกาเตรียมฉีดวัคซีนจาก Moderna ให้ประชาชน แต่ฉีดโดสเดียวแทนที่จะฉีดสองโดสตามคำแนะนำ ส่วนอังกฤษ อาจจะให้ผู้ป่วยได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตยาที่แตกต่างกันสำหรับโดสแรกและโดสที่สอง
สำหรับวัคซีนที่ผลิตจาก Pfizer-BioNTech นี้ ต้องฉีดสองโดสโดยฉีดห่างจากกันราว 3 สัปดาห์และจะต้องเก็บรักษาวัคซีนในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งทีมสำหรับเตรียมการด้านนี้ไว้แล้วพร้อมกับเตรียมระบบโลจิสติกส์เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนสำเร็จก่อนที่โตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา