การระบาดของไวรัสโคโรน่าได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานของชาวญี่ปุ่นไปอย่างมาก
ผลการสำรวจของ Japan Productivity Center ระบุว่าคนญี่ปุ่นกว่า 60% อยากทำงานที่บ้านต่อถึงแม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็ยังมีความกังวลเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน และการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญของบริษัท หลายๆ บริษัทจึงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะลงทุนเพิ่มคุณภาพอุปกรณ์ต่างๆ หรือไม่
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม มีการประกาศมาตรการฉุกเฉินในประเทศญี่ปุ่น Japan Business Federation ได้จัดประชุมเรื่องรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึง การทำงานทางไกล การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และการจัดเวรสลับกันเข้าบริษัท เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส
บริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นต้องปรับตัว
หลายบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการนี้ เช่น บริษัท Toshiba เริ่มให้พนักงานออฟฟิศ และพนักงานในโรงงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ บริษัท Hitachi และ Mitsubishi Electric ก็ให้พนักงาน 50% ทำงานจากที่บ้าน
ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน บริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่น เช่น NTT Data ก็ได้ให้พนักงานกว่า 50% เปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน ส่วนคนที่จำเป็นต้องเข้าบริษัทจริงๆ ก็จะจัดเวรให้สลับกันเข้าออฟฟิศแทน
Chihiro Oyama อายุ 37 ปี พนักงานตำแหน่งทรัพยากรบุคคลของบริษัท NTT Data เล่าว่า เธออยากทำงานที่บ้าน 80% ของเวลางานทั้งหมด เพราะในช่วงโควิดที่ผ่านมา เธอเริ่มทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึงเที่ยง และในช่วงบ่ายเธอจะใช้เวลากับลูก ซึ่งเธอบอกว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างจากตอนทำงานที่บริษัท
Bellface บริษัทที่ทำระบบ Vdo conference ก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ ทางบริษัทกล่าวว่าข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่จะหายไป ถือเป็นโอกาสของบริษัทที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่
หลังจากก่อตั้งมา 1 ปีครึ่ง จำนวนบริษัทที่ใช้บริการของ Bellface ก็เติบโตจาก 1,300 บริษัท มาเป็น 10,000 บริษัทในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะทางบริษัทได้ปล่อยเวอร์ชันฟรีออกมาเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งในช่วงที่สถานการณ์ปกติลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่โตเกียว แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิด จำนวนคนใช้บริการในฮอกไกโด โอซาก้า และเฮียวโกะก็เพิ่มขึ้น เพราะเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก
นับได้ว่าเป็นผลดีของโควิดที่ทำให้คนญี่ปุ่นกลับมาตระหนักเรื่องวัฒนธรรมการทำงานหนักอีกครั้ง เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นจะมีข่าวเรื่องคนทำงานหนักจนตายเสมอ
ทำความรู้จักคาโรชิ (過労死) หรือการทำงานหนักจนตาย
ภาพจำของคนญี่ปุ่นในสายตาประเทศอื่นๆ คือเป็นประเทศที่คนทำงานหนัก จนเมื่อปี ค.ศ. 1970 มีคำว่า คาโรชิ (過労死) ซึ่งหมายถึง การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ถือกำเนิดขึ้น คำนี้หมายรวมถึงการฆ่าตัวตาย และการที่สภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะทำงานต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็พยายามแก้ไขเรื่องนี้มาตลอด แต่ดูเหมือนว่ายังไม่เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร
ย้อนกลับไปในอดีตช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 1950 นายกรัฐมนตรี Shigeru Yoshida มีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น เขาจึงขอความร่วมมือให้บริษัทใหญ่ๆ ใช้นโยบายจ้างงานตลอดชีพ เพื่อให้พนักงานจงรักภักดีกับบริษัท ความพยายามของเขาเมื่อ 70 ปีที่แล้วทำให้ทุกวันนี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตเป็นอันดับสามของโลก แต่ที่น่าเศร้า คือในช่วงนั้นเอง พนักงานญี่ปุ่นก็เริ่มฆ่าตัวตาย และมีสภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะมีจำนวนภาระงานมากเกินไป รวมถึงอดนอน
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2013 Miwa Sado อายุ 31 ปี นักหนังสือพิมพ์ประจำสำนักข่าว NHK ได้เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว เพราะทำงานล่วงเวลามากถึง 159 ชั่วโมงในเวลาหนึ่งเดือน
มุมมองของคนญี่ปุ่นต่อการทำงานหนัก
ในสังคมญี่ปุ่น การทำงานหนักจะทำให้คนไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้เร็วขึ้น หัวหน้าจึงคาดหวังให้ลูกน้องทุ่มเทเต็มที่ และเป็นเรื่องปกติมากที่พนักงานบริษัทจะเลิกงานตรงกับเวลาของรถไฟเที่ยวสุดท้าย ดังนั้น คนก็จะไม่ค่อยลาออก เพราะไม่อยากเริ่มต้นไต่เต้าตำแหน่งใหม่ที่บริษัทอื่น
Takehiro Onuki อายุ 31 ปี ตำแหน่งพนักงานขาย เข้างาน 8 โมงเช้า และเลิกงานเที่ยงคืน ซึ่งเขาจะได้เจอภรรยาแค่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
สำหรับคนญี่ปุ่น การลางานมากกว่าจำนวนวันลาขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องดี และคนที่ไม่ลางานเลยจะได้รับการประเมินที่ดีกว่า
Hideyuki อายุ 33 ปี (ไม่ได้บอกชื่อนามสกุลครบ เพราะกลัวส่งผลกระทบต่องาน) อาชีพวิศกร ลางานเพียง 2 วันตลอดทั้งปี ทั้งๆ ที่เขามีวันลาประจำปีมากถึง 20 วัน โดยครั้งแรกลาไปพิธีสมัครเข้าเรียนชั้นประถมของลูกสาว และครั้งที่สองลาไปวันผู้ปกครองของโรงเรียนลูก
Hiroshi Ono ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลประจำมหาวิทยาลัย Hitotsubashi อธิบายว่า ในขณะที่ประเทศทางตะวันตกไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบอาวุโสในที่ทำงาน ประเทศญี่ปุ่นกลับเข้มงวดเรื่องนี้มาก ทำให้คนหนุ่มสาวไม่กล้าลางาน เพราะหัวหน้าของพวกเขาก็ไม่ได้ลางานเลยเช่นกัน
ผลการวิจัยจาก Expedia ประเทศญี่ปุ่นระบุว่า 62% ของคนอายุ 18-34 ปีรู้สึกว่าตนเองมีวันหยุดน้อยเกินไป ในขณะที่มีเพียง 40% ของคนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่จะรู้สึกเช่นนี้ ถือเป็นปัญหาความแตกต่างระหว่างช่วงอายุ เพราะไม่ว่าคนหนุ่มสาวต้องการวันหยุดพักที่มากขึ้นเพียงใด แต่ถ้าผู้อาวุโสกว่าไม่เห็นด้วยก็เปล่าประโยชน์
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ?
เมื่อปี 2018 ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe สภานิติบัญญัติแห่งชาติญี่ปุ่นได้ออก Work Style Reform Bill เพื่อให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ และมีผลใช้งานได้ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยมีเนื้อหา คือให้เปลี่ยนการทำงานล่วงเวลาแบบเดิมมาเป็นการทำงานแบบยืดหยุ่นขึ้น และให้พนักงานลางานอย่างน้อยที่สุด 5 วัน โดยให้เหลือวันลาที่ไม่ได้ใช้อย่างน้อยที่สุด 10 วัน ซึ่งทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า อัตราการลางานของพนักงานจะสูงขึ้น 70% ในปี 2020
สรุป
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าความเปลี่ยนแปลงเรื่องรูปแบบการทำงานในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะสถานการณ์โควิดช่วยให้ผู้บริหารหลายๆ บริษัท หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
ที่มา : Kyodo, BBC, Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา