ญี่ปุ่นเดินหน้าใช้การทูตการแพทย์กับอาเซียน ขยายความแข็งแกร่งข่าวกรองต้านจีน

โลกที่ปกคลุมไปด้วยโรคระบาด ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าการมีผู้นำที่มีศักยภาพ แพทย์ที่มีความสามารถ มียาที่ดี มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออีกแล้ว แน่นอน วัคซีนกลายเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปที่โลกจะฝันถึงตอนนี้ และแม้จะฝันแล้ว ทั่วโลกก็พรีออเดอร์กันถล่มทลายมหาศาลกว่า 5,700 ล้านโดส วัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะไขว่คว้ามาได้ง่ายๆ ทั้งในแง่การผลิตและความสามารถในการเข้าถึง

Toshimitsu Motegi รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเริ่มขยายการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ให้สามารถควบคุมไวรัสที่กำลังระบาดได้

Motegi Toshimitsu รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ภาพจาก กระทรวงต่างประเทศ ญี่ปุ่น

การเดินทางต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ตามด้วยการเยือนอังกฤษช่วงต้นเดือนนี้ Motegi เจรจาเพื่อทำการค้าและหารือกับ Dominic Raab รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเผชิญหน้ากับจีนในอินโด-แปซิฟิกที่จีนพยายามแสดงบทบาทในน่านน้ำมากขึ้น Motegi พยายามจะหารือเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการแบ่งปันข่าวกรองระหว่างห้าชาติพันธมิตรามากขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์

Motegi เริ่มเยือนสิงคโปร์ มาเลเซียเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เขายังเตรียมที่จะเดินทางไปปาปัวนิวกินี ตามด้วยกัมพูชา และเมียนมา ญี่ปุ่นได้ทำความตกลงกับชาติสมาชิกในอาเซียนเรียบร้อยแล้วทั้งในส่วนของการจัดหาเตียงและรถพยาบาลให้

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่าจะเตรียมงบไว้ 1.16 หมื่นล้านเยน หรือ 109 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.39 พันล้านบาท ในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 แห่ง คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม

Motegi Toshimitsu รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพจาก กระทรวงต่างประเทศ ญี่ปุ่น

ในขณะที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักนี้ หลายประเทศในอาเซียนขาดแคลนทรัพยากรด้านการแพทย์และเรียกร้องให้ต่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด จีนถือเป็นหัวหอกในการพยายามพัฒนาวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เกรงว่า จีนจะใช้การทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) เหมือนที่ก่อนหน้านี้พยายามใช้การทูตหน้ากาก (mask diplomacy) เพื่อให้ความช่วยเหลือ ในโอกาสเดียวกันก็ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไปด้วย

ทั้งนี้ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้พยายามร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนกับประเทศหุ้นส่วนอย่างอินโดนีเซียเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอินโดนีเซียก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ติดเชื้อรวม 143,043 คน เสียชีวิต 6,277 คน รักษาหาย 96,306 คน) ในอาเซียนก็มีประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว

นอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีการประชุมภายใต้กรอบ ARF (ASEAN Regional Forum) ที่จะจัดขึ้นภายในกันยายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีผู้นำจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมารวมตัวกันครั้งแรกหลังจากที่ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โจมตีจีนอย่างหนักหลากหลายเรื่อง ทั้งจาก Pompeo เองและผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ​ หลายรายรวมทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ด้วย ทั้งเรื่องจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การพยายามแบน Huawei และ WeChat ไปจนถึงการพยายามขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

WASHINGTON, DC – MAY 23: U.S. Secretary of State Mike Pompeo (R) and Chinese Foreign Minister Wang Yi hold a brief news conference in the Benjamin Franklin Room at the State Department’s Harry S. Truman headquarters building May 23, 2018 in Washington, DC. Pompeo is also meeting with German Foreign Minister Heiko Maas and Japanese Foreign Minister Taro Kono later in the day. (Photo by Chip Somodevilla/Getty Images)

ทั้งนี้ ชาติสมาชิกในอาเซียนก็มีท่าทีต่อจีนที่หลากหลายมากขึ้น ฟิลิปปินส์พยายามเว้นระยะห่างจากทั้งคู่คือสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกันบรรยากาศความขัดแย้งในน่านน้ำที่จีนพยายามขยายอิทธิพลก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 ก็ถือเป็นสิ่งที่หลายประเทศในอาเซียนปรารถนาหลังจากที่บาดเจ็บจากผลกระทบทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะในช่วงเมษายนถึงมิถุนายนหรือช่วงไตรมาสที่สองที่ความซบเซาทางเศรษฐกิจค่อยๆ ปรากฎให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และจีนต่างพยายามจะเสนอความช่วยเหลือต่ออินโดนีเซียในการให้ความร่วมมือเรื่องพัฒนาวัคซีนทั้งคู่ อีกทั้ง Pompeo ก็เคยหารือกับหุ้นส่วนอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ในการพยายามเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งออสเตรเลียที่ถือเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นกันในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นเองก็ถือเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และพยายามจะผูกสัมพันธ์กับอาเซียนเช่นกัน เห็นได้จากการเลือกเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นครั้งแรกหลังขึ้นดำรงแตำแหน่งผู้นำประเทศ

ที่มา – Nikkei Asian Review, JHU

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา