โลกที่ปกคลุมไปด้วยโรคระบาด ไม่มีอะไรวิเศษไปกว่าการมีผู้นำที่มีศักยภาพ แพทย์ที่มีความสามารถ มียาที่ดี มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออีกแล้ว แน่นอน วัคซีนกลายเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปที่โลกจะฝันถึงตอนนี้ และแม้จะฝันแล้ว ทั่วโลกก็พรีออเดอร์กันถล่มทลายมหาศาลกว่า 5,700 ล้านโดส วัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะไขว่คว้ามาได้ง่ายๆ ทั้งในแง่การผลิตและความสามารถในการเข้าถึง
Toshimitsu Motegi รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเริ่มขยายการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ให้สามารถควบคุมไวรัสที่กำลังระบาดได้
การเดินทางต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ตามด้วยการเยือนอังกฤษช่วงต้นเดือนนี้ Motegi เจรจาเพื่อทำการค้าและหารือกับ Dominic Raab รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเผชิญหน้ากับจีนในอินโด-แปซิฟิกที่จีนพยายามแสดงบทบาทในน่านน้ำมากขึ้น Motegi พยายามจะหารือเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการแบ่งปันข่าวกรองระหว่างห้าชาติพันธมิตรามากขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์
Motegi เริ่มเยือนสิงคโปร์ มาเลเซียเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เขายังเตรียมที่จะเดินทางไปปาปัวนิวกินี ตามด้วยกัมพูชา และเมียนมา ญี่ปุ่นได้ทำความตกลงกับชาติสมาชิกในอาเซียนเรียบร้อยแล้วทั้งในส่วนของการจัดหาเตียงและรถพยาบาลให้
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่าจะเตรียมงบไว้ 1.16 หมื่นล้านเยน หรือ 109 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.39 พันล้านบาท ในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 แห่ง คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม
ในขณะที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักนี้ หลายประเทศในอาเซียนขาดแคลนทรัพยากรด้านการแพทย์และเรียกร้องให้ต่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด จีนถือเป็นหัวหอกในการพยายามพัฒนาวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เกรงว่า จีนจะใช้การทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) เหมือนที่ก่อนหน้านี้พยายามใช้การทูตหน้ากาก (mask diplomacy) เพื่อให้ความช่วยเหลือ ในโอกาสเดียวกันก็ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไปด้วย
ทั้งนี้ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้พยายามร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนกับประเทศหุ้นส่วนอย่างอินโดนีเซียเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งอินโดนีเซียก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมากแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ติดเชื้อรวม 143,043 คน เสียชีวิต 6,277 คน รักษาหาย 96,306 คน) ในอาเซียนก็มีประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว
นอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีการประชุมภายใต้กรอบ ARF (ASEAN Regional Forum) ที่จะจัดขึ้นภายในกันยายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีผู้นำจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมารวมตัวกันครั้งแรกหลังจากที่ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โจมตีจีนอย่างหนักหลากหลายเรื่อง ทั้งจาก Pompeo เองและผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ หลายรายรวมทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ด้วย ทั้งเรื่องจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การพยายามแบน Huawei และ WeChat ไปจนถึงการพยายามขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ ชาติสมาชิกในอาเซียนก็มีท่าทีต่อจีนที่หลากหลายมากขึ้น ฟิลิปปินส์พยายามเว้นระยะห่างจากทั้งคู่คือสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกันบรรยากาศความขัดแย้งในน่านน้ำที่จีนพยายามขยายอิทธิพลก็คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 ก็ถือเป็นสิ่งที่หลายประเทศในอาเซียนปรารถนาหลังจากที่บาดเจ็บจากผลกระทบทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้าโดยเฉพาะในช่วงเมษายนถึงมิถุนายนหรือช่วงไตรมาสที่สองที่ความซบเซาทางเศรษฐกิจค่อยๆ ปรากฎให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และจีนต่างพยายามจะเสนอความช่วยเหลือต่ออินโดนีเซียในการให้ความร่วมมือเรื่องพัฒนาวัคซีนทั้งคู่ อีกทั้ง Pompeo ก็เคยหารือกับหุ้นส่วนอื่นๆ อย่างสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ในการพยายามเผชิญหน้ากับจีน ซึ่งออสเตรเลียที่ถือเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นกันในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ญี่ปุ่นเองก็ถือเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และพยายามจะผูกสัมพันธ์กับอาเซียนเช่นกัน เห็นได้จากการเลือกเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นครั้งแรกหลังขึ้นดำรงแตำแหน่งผู้นำประเทศ
ที่มา – Nikkei Asian Review, JHU
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา