วิศวกรไอทีตัวท็อปของญี่ปุ่น ไหลออกนอกประเทศไปทำงานในจีน-เกาหลีใต้ เป็นมา 4 ทศวรรษแล้ว

ญี่ปุ่นประสบปัญหาวิศวกรไอทีย้ายออกไปทำงานนอกประเทศ จีนและเกาหลีใต้เป็นหมุดหมายที่ดี เพราะอัตราค่าจ้างสูง สวัสดิการดี แถมมีระบบนิเวศน์เทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเติบโต แต่เทรนด์นี้ไม่ได้กำลังเกิดขึ้น เพราะเป็นมา 4 ทศวรรษแล้ว

Photo: flickr.com by Georges .Curious about the world

วิศวกรไอทีในญี่ปุ่น ไหลออกไปทำงานนอกประเทศมา 4 ทศวรรษแล้ว

มีข้อมูลเปิดเผยว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2015 บริษัทเทคโนโลยีในแถบเอเชีย มีวิศวกรไอทีที่มาจากญี่ปุ่นนับ 1,000 คน และคาดว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะตัวเลขที่เปิดเผยนับเพียงวิศวกรที่มีทักษะขั้นสูงจนต้องมีการบันทึกในระบบ

มีงานวิจัยของญี่ปุ่นที่ติดตามดูว่าวิศวกรไอทีญี่ปุ่นออกไปทำงานที่ไหนกันบ้าง พบว่า ประมาณ 490 คนไปทำงานอยู่ที่เกาหลีใต้ อีก 196 ไปทำงานในจีน ที่เหลืออีก 350 คนไปทำงานในไต้หวันและไทย

ส่วนใหญ่วิศวกรไอทีที่ออกไปทำงานต่างประเทศเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูง เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า “ตัวท็อปของญี่ปุ่น” (Japan’s top class)

จ่ายหนัก สวัสดิการพร้อม สิ่งแวดล้อมดี

เอาเฉพาะกรณี Samsung รายนี้ถ้าเป็นวิศวกรไอทีญี่ปุ่นฝีมือดี เรียกได้ว่ามีข้อเสนอมาล่อใจและจ่ายหนักจริงๆ เช่น ในปี 2005 Samsung บอกเลยว่าจะให้เงินเดือนมากกว่าที่อื่น 30% แถมมีอพาร์ทเม้นท์ 3 ห้องนอนให้อยู่อาศัย แม้ว่าจะย้ายมาทำงานคนเดียวในเกาหลีใต้ก็ตาม

ในขณะที่ Samsung มีรายได้พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2016 ไปแตะอยู่ที่ 1.77 แสนล้านเหรียญ ด้านจีน Huawei ก็มาแรง โดยเฉลี่ยค่าจ้างต่อปีจะมากถึง 30 – 50 ล้านเยน เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นที่จะไหลเข้าไป แต่มีคนเก่งๆ อีกหลายประเทศที่ย้ายเข้าไปทำงาน เพราะแรงดึงดูดของการเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าจ้างที่หนัก ทำให้เกิด ecosystem ที่เหล่าบรรดากูรูด้านไอทีชื่นชอบ

และเอาเข้าจริง การรั่วไหลของเหล่าบรรดาคนมีฝีมือในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในตะวันตกก็มีปัญหานี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนี

ญี่ปุ่นเริ่มตระหนัก แต่แค่จ่ายแพงขึ้น จะดึงตัวท็อปกลับมาได้หรือไม่?

Shunsuke Mikami หัวหน้าของบริษัทหางานในญี่ปุ่น บอกว่า “วิศวกร[ไอที] มีสถานะที่ค่อนข้างต่ำในญี่ปุ่น เราต้องทำอะไรสักอย่าง เช่น จ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น” 

แต่ที่มากไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าเหล่าบรรดาตัวท็อปทั้งหลายต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดและโตมาในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทางเลือกในชีวิตและการทำงานที่กว้างขึ้น ลำพังเพียงค่าแรงที่สูงขึ้นอาจไม่เพียงพอ

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา