สังคมสูงวัยในญี่ปุ่น บ้านร้างเพียบ รัฐสนับสนุนให้ขาย บางหลังเริ่มเพียง 14,000 บาทเท่านั้น

ปัญหาบ้านร้างในประเทศญี่ปุ่นเข้าขั้นวิกฤต จากภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น รัฐบาลสนับสนุนขายบ้านในชนบท ราคาเริ่มเพียง 14,000 บาท

ปัจจุบันบ้านร้างในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากกว่า 8.5 ล้านหลัง จากจำนวนบ้านทั้งหมด 62 ล้านหลังทั่วประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 13.6%

รัฐบาลสนับสนุนขายบ้านราคาถูก จนเหมือนได้ฟรี

สำหรับผู้ที่สนใจซื้อบ้านร้างเหล่านี้ ภาครัฐช่วยเหลือเต็มที่ เปิดเว็บไซต์ “ธนาคารอาคิยะ” ซื้อ-ขาย ให้เช่าบ้านร้าง ดำเนินการโดยที่ทำการเทศบาลในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น จังหวัด โทชิกิ และ นากาโนะ ที่ราคาขายเริ่มต้นเพียง 14,000 บาท

สำหรับบ้านบางหลังที่สภาพทรุดโทรมเกินไป รัฐถึงกลับแจกฟรีให้ผู้คนที่สนใจรับช่วงต่อ ส่วนบ้านร้างในเขตโอคุทามะ จังหวัดโตเกียว บ้านร้างเหล่านี้ถูกสร้างใหม่เป็น ร้านอาหาร สตูดิโอของศิลปิน และอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโครงการบอกว่า “โครงการนี้ช่วยเหลือเจ้าของบ้านที่ต้องจ่ายภาษีทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบ้านเหล่านี้ได้ รวมไปถึงช่วยเหลือเทศบาล ด้วยการลดจำนวนอาคารที่ถูกทิ้งร้างที่มีโอกาสพังทลาย หรือ เป็นอันตรายในอนาคตได้อีกด้วย”

ในขณะเดียวกัน บางเทศบาลก็ตระหนักได้ว่าการให้เงินสนับสนุนอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการดึงดูดผู้อาศัยใหม่ ๆ 

หลังจากเมืองมิคาสะ ฮอกไกโด เริ่มมีสวัสดิการสำหรับการดูแลเด็กและการซื้อบ้านใหม่ ก็ลดจำนวนบ้านร้างไปได้ถึง 11% ในส่วนของเทศบาลเมืองไดเซน ทตโตริ ที่เสนอให้มีเงินสนับสนุนถึง 2 ล้านเยน (ประมาณ 570,000 บาท) สำหรับผู้ที่อยากปรับปรุงบ้านใหม่บางหลัง จำนวนบ้านร้างก็ลดไปประมาณ 7.9%

สำหรับพนักงานที่ทำงานนอกออฟฟิศและอาศัยอยู่ในเขตชนบท เช่น ถูกว่าจ้างในบริษัทที่โตเกียว แต่ทำงานจริงในจังหวัดอื่น สามารถรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐได้ 1 ล้านเยน (ประมาณ 280,000 บาท) สำหรับเจ้าของบริษัทที่ต้องการเปิดบริษัท IT ในเขตชนบทจะได้รับเงินสนับสนุนถึง 3 ล้านเยน (ประมาณ 850,000 บาท)

ภาพจาก Unplash โดย Hamza ERBAY

บ้านร้าง หรือ อาคิยะ คืออะไร?

อาคิยะ (空き家) แปลว่า บ้านที่ว่างเปล่า ซึ่ง อาคิยะ ส่วนมากจะเป็นบ้านร้างขนาดค่อนข้างใหญ่แถบชนบทที่ก่อสร้างไว้นานแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมีสไตล์การก่อสร้างค่อนข้างโบราณ

สาเหตุหลักของการเกิด อาคิยะ ในประเทศญี่ปุ่นก็คือการเสียชีวิตของญาติ โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยในบ้านนั้นมาตั้งแต่แรก หรือการย้ายออกเพื่อเข้าเมือง เนื่องจากคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำงานในเมือง และมองว่าบ้านที่มีอายุมากไม่น่าซื้อ บ้านเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นไป

ในความเป็นจริง บ้านร้างที่ถูกปรับปรุงใหม่ให้ได้มาตรฐานตามกฏหมาย และอาศัยได้อย่างสะดวกสบาย จะมีราคาถึง 20 ล้านเยน (ประมาณ 8 ล้านบาท) แต่แม้ภาครัฐจะให้ความสนับสนุนมา 3-4 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นผลระดับประเทศมากนัก

ทว่า ด้วยความสนใจในบ้าน อาคิยะ ที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ทั้งจากข่าวออนไลน์ และนักลงทุน ชาวต่างชาติ หรือแม้แต่คนมีฐานะในประเทศญี่ปุ่นที่สนใจซื้อจริง บ้านเหล่านี้ก็เริ่มดูน่าดึงดูดมากขึ้นเมื่อเทียบกับคอนโดใจกลางกรุงโตเกียวที่มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 544,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ด้วยขนาดความปลอดโปร่งของพื้นที่ หรือแม้แต่ประโยชน์ด้านสุขภาพที่สูงกว่าอย่างสิ้นเชิง

สรุป

ปัญหาด้านจำนวนประชากรที่ลดลงของญี่ปุ่น ซึ่งสวนทางกับจำนวนบ้านที่ว่างเปล่าขึ้นทุกวัน เริ่มถูกแก้ไขได้จากการสนับสนุนของภาครัฐ และความสนใจของชาวต่างชาติที่ต้องการบ้านพักตากอากาศ หรือไม่แน่ว่า อาจมีชาวต่างชาติที่สนใจย้ายประเทศไปในญี่ปุ่น ซื้อบ้านร้างไว้นั่งทำงาน เพราะการทำงานในยุคสมัยใหม่ แค่มีอินเทอร์เน็ตก็ทำงานได้แล้ว

ที่มา – Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา