หลายคนบอก ทำแบบเดิม ก็ได้แบบเดิม แต่ความล้มเหลวที่ Dyson พบเจอทั้ง 5,126 ครั้ง เขาพยายามแก้ไขและทำให้ดีขึ้นทุกครั้ง จนกระทั่งสำเร็จได้ในครั้งที่ 5,127 ปัจจุบัน เครื่องดูดฝุ่น Dyson วางขายแล้วกว่า 82 ประเทศทั่วโลก James Dyson กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 120 ของโลก ครอบครองสินทรัพย์มูลค่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.88 แสนล้านบาท
James Dyson มหาเศรษฐีอันดับที่ 120 ของโลกมีสินทรัพย์ในครอบครองกว่า 5 แสนล้านบาท ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลขนาดนี้ เขาเคยล้มเหลวมากกว่า 5 พันครั้ง ใครจะไปคิดว่าในที่สุดเขาจะบรรลุเป้าหมายได้ Dyson น่าจะผ่านจุดที่ Thomas Edison ยอดนักประดิษฐ์หลอดไฟผู้ยิ่งใหญ่เคยเป็นมาก่อน เหมือนคำกล่าวที่เอดิสันว่าไว้ “เขาไม่ได้ล้มเหลวถึงหมื่นครั้ง แต่เขาประสบความสำเร็จที่ค้นพบหนทางที่ไม่ได้ผลถึง 10,000 ครั้งต่างหาก”
James Dyson คือนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษที่ก่อตั้งบริษัท Dyson บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนคุณภาพสูงที่มาพร้อมกับราคาแพงระยับ บริษัท Dyson มีความเชื่อในเรื่องความล้มเหลว ช่วงที่ Dyson สร้างเครื่องดูดฝุ่นรุ่นแรก Dual Cyclone ที่กว่าจะขายได้ในปี 1993 เขาใช้เวลาสร้างยาวนานถึง 5 ปี เขาออกแบบมาแล้ว 5,126 เวอร์ชันก่อนจะประสบความสำเร็จได้
“ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า คุณไม่สามารถเรียนรู้มันได้จากความสำเร็จแต่คุณเรียนรู้มันจากความล้มเหลวได้” Dyson กล่าว
[คลิปเล่าเรื่องความเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ที่อดทนต่อความล้มเหลวของ Dyson เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบมาก Dyson จดบันทึกทุกความล้มเหลวของสิ่งที่เขาลงมือทำ จากนั้นเขาก็ลงมือทำใหม่ทุกวัน ช่วงเริ่มต้นของบริษัทไม่มีโครงสร้างอะไรเลยนอกจากกลุ่มวิศวกรที่ช่วยกันคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านั่น ‘เครื่องดูดฝุ่นไร้ถุง’ เขาเชื่อว่าถ้าคุณมีสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ มีการออกแบบที่ดี เมื่อคุณทำออกมาได้ดี คุณก็จะขายสินค้านั้นได้ดีและในที่สุดคุณก็จะประสบความสำเร็จไม่ว่าช่วงนั้นจะมีสภาพเศรษฐกิจเช่นใดก็ตาม]
เว็บไซต์ Entrepreneur เคยสัมภาษณ์ James Dyson ถึงเรื่องความล้มเหลวที่สามารถขับเคลื่อนจนกลายเป็นความสำเร็จได้ว่า Dyson พูดถึงคุณค่าของความล้มเหลวบ่อยครั้ง ความล้มเหลวเหล่านี้มันช่วยเขายังไง?
Dyson มองว่า ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันคือส่วนหนึ่งในการทำให้มันก้าวหน้า คุณไม่สามารถเรียนรู้ความสำเร็จจากความสำเร็จได้ แต่คุณเรียนรู้ความสำเร็จจากความล้มเหลวได้ ในช่วงที่เขาสร้างเจ้าเครื่องดูดฝุ่นรุ่น Dual Cyclone ขึ้นมาเนี่ย เขาก็เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ และท้ายที่สุดแล้วเขาก็อยู่ในจุดที่กล้าที่จะเสี่ยงและลงมือทำต่อไป เป็นจุดที่ไม่เคยจินตนาการมาก่อนเลย เขาได้เรียนรู้ว่า อะไรบ้างที่ทำแล้วสำเร็จได้ไปต่อกับอะไรที่ทำแล้วไม่เวิร์ค
Dyson โอบรับความสับสนที่ท่วมท้นท่ามกลางความล้มเหลวนี้อย่างไร? เขาบอกว่า เราต้องโอบกอดความล้มเหลวที่เราเกือบจะล้มเลิกมันไปแล้ว ไม่ใช่ในหนทางที่ดื้อรั้นหัวชนฝาไม่ยอมละทิ้งมัน แต่ในหนทางที่พยายามแก้ไขปัญหา ชีวิตก็คือภูเขาแห่งปัญหาที่เราต้องพยายามแก้ไขและสนุกไปกับมัน
เทคโนโลยีไซโคลนที่เขามุ่งทำมันคือโมเดลในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ความล้มเหลวนี้ช่วยให้เขาเกิดความสร้างสรรค์ได้ยังไง? เขาบอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์หากว่าทำสิ่งใดแล้วได้ผลตั้งแต่แรก ความสร้างสรรค์คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครแก้ได้มาก่อน การทำให้มันสำเร็จได้มันก็คือสิ่งที่สร้างสรรค์มากในการลงมือทำ
การเรียนรู้ ความหมายของมันก็คือ จงเรียนรู้ แม้ว่าจะไม่ได้คำตอบจากสิ่งที่ต้องการรู้ทั้งหมดก็ตาม โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้ความล้มเหลวจะทำให้เจ็บปวด ผิดหวังจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยและสงสัยไปทุกสิ่งขณะที่ลงมือทำ แต่เคล็ดลับของผู้ประกอบการสอนให้ได้เรียนรู้ว่า จงตกหลุมรักในความล้มเหลว เราต้องตกหลุมรักมันด้วยความกระหายใคร่รู้ เพื่อจะค้นพบหนทางแห่งการแก้ปัญหาและกลายเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ในที่สุด
James Dyson สอนให้ได้เรียนรู้อีกว่าจงอย่าใส่ใจคำพูดของผู้คนขณะที่คุณยังไม่ประสบความสำเร็จ คุณมีหน้าที่ค้นหาคำตอบและแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วง Aytekin Tank นักธุรกิจ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Jotform (ผู้สร้างฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้บริการทั้งในรูปแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย มีผู้ใช้งานกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่เป็นลูกค้าหลายราย อาทิ Adobe, RedBull, Ford ฯลฯ) ได้สรุปแนวคิดสำหรับการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตว่าจงอย่ากลัวเมื่อชีวิตพบเจอหนทางที่ผิดพลาด ดังนี้
เรื่องแรก: จงปลูกฝังความหลงใหลในตัวนักสำรวจ
Tank พูดถึง John Hagell III ผู้เขียนบทความลง Harvard Business Review (HBR) ต้องการจะเข้าให้ถึงแก่นของแรงจูงใจผู้ที่เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อค้นพบจากงานวิจัยของเขาก็คือ จงอย่ากลัวที่จะเรียนรู้ จงมีความหลงใหลในการเป็นนักสำรวจ เป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้และเติบโต
Hagell เชื่อว่าพวกเราทุกคนมีศักยภาพพอที่จะสร้างความหลงใหลเช่นนี้ เขาแนะนำให้ลองไปที่สนามเด็กเล่นและเฝ้าดูเด็กเล็กวัย 5-6 ขวบ พวกเขามีองค์ประกอบที่ต้องการทั้งหมดเลย นั่นก็คือ ความสงสัยใคร่รู้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความยินดีที่จะกล้าเสี่ยงและความเชื่อมโยงกับผู้อื่น ความกลัวที่จะทำความผิดพลาดฝังลึกอยู่ในตัวพวกเรา แต่มันสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ให้มันเป็นทางเลือกสำหรับการทดลอง ทดสอบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างทางก็ค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ เส้นทางของนักสำรวจจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ความสงสัยใคร่รู้จะทำให้เราก้าวผ่านความกลัวไปได้
เรื่องที่สอง: จงฝึกตั้งคำถามกับสถานะที่มั่นคง
Tank พูดถึง Dyson ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความสมบูรณ์แบบมากจนเขาอยากจะยกตัวอย่างบริษัทเขาเอง หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัทคือ ตารางจาก Jotform ที่ทีมสามารถเก็บข้อมูล จัดระเบียบข้อมูลได้ในที่เดียว เมื่อสินค้าชนิดใดมีสถานะที่มั่นคงแล้ว เราควรจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีอะไรที่จะสามารถทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ง่ายขึ้นบ้าง (จากการใช้งานสินค้านั้นๆ) จากนั้นเขาก็หยิบแนวคิดจากนักเขียนใน HBR มายกตัวอย่างว่า นี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของการเรียนรู้ การตั้งคำถามเพื่อสำรวจหนทางในการลงมือทำสิ่งที่เปลี่ยนไป ดังนี้
- ให้จินตนาการถึงปี 2030 หากมี 3 สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ สิ่งนั้นคืออะไร
- จุดแข็งด้านไหนของคุณที่จะสร้างประโยชน์ให้องค์กร หากมีการปรับขนาดองค์กรให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า
- หากคุณสามารถสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ได้ในวันพรุ่งนี้ คุณจะทำสิ่งใดให้มันแตกต่างจากเดิมบ้าง
เรื่องที่สาม: จงโอบกอดความเจ็บปวดและเรียนรู้ใหม่เสมอ
ความผิดพลาด ความล้มเหลว ไม่ได้นำพามาแต่ความรู้สึกแย่เท่านั้น หากเราได้เรียนรู้สิ่งใดจากโรคระบาด เราก็ได้เรียนรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตเราทุกมิติ เช่น การสื่อสารผ่าน Zoom การจัดการที่จะยุติความเหนื่อยล้าจากวิกฤตที่ประสบพบเจออยู่ ความเจ็บปวดที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไปเพราะมันคือการเรียนรู้ จงให้คุณค่ากับความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตทุกๆ วันและรักษาเป้าหมายและดูว่าอะไรที่มันเวิร์คหรือไม่เวิร์คสำหรับเรา จากนั้นก็อย่าลืมเปิดกว้างในการรับฟังฟีดแบคเสมอ
ชีวิตพอเพียงในวัยเด็ก ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น กำพร้าพ่อในวัยไม่ถึงสิบขวบ ไม่มีเงินเรียนต่อ
ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ใช่ชีวิตคนเมือง ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เริ่ม เขาเกิดและเติบโตที่ Cromer, Norfolk เป็นเมืองชายฝั่งทางตอนเหนือของอังกฤษ ย่านที่เขาอยู่ไม่มีร้านค้า ไม่มีทีวีจนอายุ 12 ปีถึงจะมีทีวีได้ เขาใช้ชีวิตสนุกอยู่กับการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ล่องเรือกับพ่อและพี่ชาย รวมทั้งวิ่งก็เป็นกีฬาโปรดของเขา วิ่งในระยะราว 10 ไมล์หรือประมาณ 16 กิโลเมตร
เขาบอกว่าการวิ่งมันสอนเขาเกี่ยวกับความมุ่งมั่น อย่าล้มเลิกความตั้งใจ เมื่อทุกอย่างดูแล้วสิ้นหวัง สิ่งที่ทำลงไปดูแล้วมันกำลังต่อต้านคุณหรือว่ามันดูยากลำบากเสียเหลือเกิน นั่นคือสิ่งที่กำลังบอกว่าคุณต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ในช่วงเด็กเขาปลูกผักและเลี้ยงไก่ เขาบอกว่าใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่ค่อยมีต้นทุนอะไรนัก เขามีความสุขกับการวาดภาพมาก พ่อของเขาเป็นหัวหน้าสอนวิชาดนตรีคลาสสิคและป่วยเป็นมะเร็งลำคอและปอด พ่อเขาเสียชีวิตในช่วงที่เขาอายุเพียง 9 ปี เขาเหลือเพียงพี่ชายวัย 11 ปี พวกเขาไม่มีเงินเรียนต่อเพราะสมัยนั้นไม่มีประกันชีวิต ไม่มีสวัสดิการของพ่อจากการทำงาน
ครูใหญ่ในสมัยนั้น Logie Bruce Lockhart แห่งโรงเรียน Gresham ให้การสนับสนุนเขาและพี่ชายโดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอม ช่วยดูแลเขาในวัยเด็ก พอโตขึ้นเขาก็บอกว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องตอบแทนโรงเรียนบ้าง เขากลับมาสร้างตึก WilkinsonEyre เป็นตึกของ Dyson ให้นักเรียนได้เรียนรู้ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะและคณิตศาสตร์) เขาบอกว่ามันสำคัญมากที่จะต้องไม่แยกการเรียนรู้ในวิชาเหล่านี้ออกจากกัน เขาบอกว่าวิศวกรรมและการออกแบบเป็นเรื่องที่เหมือนกัน คณิตศาสตร์และฟิสิกส์อาจจะแยกจากกันได้ แต่วิศวกรรม การออกแบบและนักวิทยาศาสตร์ควรทำงานร่วมกันเพราะเป็นสิ่งที่เหมือนกัน
แพทย์เคยทักว่าเขาควรจะเป็นศิลปิน เขาก็คิดเช่นนั้น เขาศึกษาศิลปะจาก Byam Shaw School of Art เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เรียนด้านการออกแบบตกแต่งภายในและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นเวลา 4 ปีที่ Royal College of Art ก่อนจะย้ายไปเรียนด้านวิศวกรรม เขายังคงย้ำเรื่องการเรียนรู้เสมอ จงเรียนรู้โดยการทดลอง ไม่ต้องกังวลความล้มเหลว ให้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น
Dyson เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกรแห่ง Dyson Holdings Pte บริษัทที่ออกแบบและผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ดีไซน์หรู อาทิ เครื่องดูดฝุ่นไร้ถุง พัดลม เครื่องเป่าผม ฯลฯ ในปี 2021 บริษัทสร้างรายได้ราว 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท
ที่มา – Entrepreneur (1), (2), Dyson, Bloomberg, Smithsonian, The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา