มองเกมธุรกิจฟิตเนส 10,000 ล้านบาท กับ แจ็ค โธมัส เจ้าของ Base และผู้ร่วมก่อตั้ง The Fit Guide

ปี 2019 อุตสาหกรรมฟิตเนสในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องจนศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์มูลค่าตลาดนี้ไว้กว่า 10,000-12,000 ล้านบาท ผ่านจำนวนผู้ประกอบการ 816 ราย และมีผู้ออกกำลังกายในไทยกว่า 12.6 ล้านคน

แต่หลังโรคโควิด-19 ระบาด ธุรกิจฟิตเนสต่างประสบปัญหากันทุกราย และแม้จะหันมาให้บริการออนไลน์ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้จากการให้บริการที่สาขาได้ และถึงตอนนี้ยังต้องลุ้นว่าตลาดจะกลับมาที่ 10,000 ได้หรือไม่

เกือบจะผ่านครึ่งแรกของปี 2023 อุตสาหกรรมฟิตเนสเป็นอย่างไรบ้าง ลองมาอ่านมุมมองของ แจ็ค โธมัส เจ้าของ Base หนึ่งในสตูดิโอฟิตเนสในไทย และผู้ร่วมก่อตั้ง The Fit Guide ไปด้วยกัน

BASE Fitness
Photo by William Choquette: https://www.pexels.com/photo/an-on-treadmill-1954524/

ตลาดฟิตเนสยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

แจ็ค โธมัส เจ้าของ Fitness Base เล่าให้ฟังว่า ในปี 2019 ภาพรวมตลาดฟิตเนสในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีสตูดิโอฟิตเนสเกิดขึ้นมากมาย และสตูดิโอเหล่านั้นยังมีแนวคิดการออกกำลังกายแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย ส่วนฝั่งฟิตเนสที่มีสาขาจำนวนมากจะมีธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อโรคโควิด-19 ระบาด การเติบโตดังกล่าวหายไปในทันที และมีบางสตูดิโอฟิตเนสต้องปิดตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ต้องหันไปสร้างรายได้ด้วยวิธีอื่น ซึ่งปัจจุบันภาพรวมตลาดฟิตเนสยังไม่กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019

“ปี 2023 อุตสาหกรรมฟิตเนสคงต้องรออีกหน่อย เพราะความเชื่อมั่น และกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวไทยยังกลับมาไม่เต็มที่ ทำให้ตอนนี้มีเพียงชาวต่างชาติในไทยที่กลับมาใช้บริการกันอย่างเป็นปกติ และถึงคนไทยจะเริ่มรักสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องกลับมาย้อนดูเรื่องเงิน และเศรษฐกิจว่าพร้อมให้พวกเขากลับมาจับจ่ายในอุตสาหกรรมนี้หรือไม่”

อาจมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม

จากภาพรวมตลาดที่เริ่มฟื้นตัว อาจมีแนวโน้มที่แบรนด์ฟิตเนสขนาดใหญ่ และสตูดิโอฟิตเนสจากต่างชาติ เข้ามาให้บริการเพิ่มเติมในประเทศไทยเพื่อสร้างฐานเพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปกับตลาดที่จะฟื้นตัวหลังจากนี้ โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือสตูดิโอฟิตเนสประเภทชกมวยเพื่อออกกำลังกายในส่วนต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน เวลานี้ยังถือเป็นจุดที่น่าสนใจในการเริ่มต้นธุรกิจฟิตเนสขนาดเล็ก โดยเฉพาะฝั่ง Personal Trainer ที่เดิมทีต้องทำงานคู่กับฟิตเนสขนาดใหญ่ หรือสตูดิโอฟิตเนส จะสร้างสตูดิโอของตัวเอง เพราะตลาดกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมเรื่องเงินทุน, สถานที่ และการเข้าใจธุรกิจ ไม่ใช่เน้นเพียงการโค้ชออกกำลังกายที่ดี

“กรุงเทพถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเปิดสตูดิโอฟิตเนส คล้ายกับกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ แต่ที่สตูดิโอฟิตเนสในกรุงเทพยังมีไม่มาก เพราะกำลังในการจับจ่ายยังไม่มากเท่าที่สิงคโปร์ ดังนั้นการวางแผนเปิดฟิตเนสเฉพาะทาง หรือมีแนวทางการออกกำลังกายแบบใหม่ จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่”

Base ที่พยายามกลับมาเติบโตเต็มที่

สำหรับ Base ปัจจุบันเป็นสตูดิโอฟิตเนสในประเทศไทย มีทั้งหมด 3 สาขา ในกรุงเทพ มีค่า Class Membership เริ่มต้น 5,400 บาท/เดือน ใช้บริการฟิตเนสได้ 16 ครั้ง/เดือน นาน 3 เดือน และมีบริการ Personal Training เริ่มต้นครั้งละ 2,350 บาท ใช้บริการได้ 2 ครั้ง/สัปดาห์ สัญญา 8 สัปดาห์

“ในปี 2024 เราอยากเปิด Base เพิ่มอีก 1 แห่ง และพยายามฟื้นธุรกิจให้กลับมาโตเท่ากับปี 2019 ให้ได้ เพราะตอนนี้ฝั่ง Personal Training เริ่มกลับมาแล้ว แต่กลุ่ม Class Training ยังกลับมา 80% ที่สำคัญเรายังติดปัญหาคนไทยยังไม่กลับมาใช้บริการเหมือนในอดีต ทำให้ปัจจุบันมีเพียงชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเป็นหลัก”

Base มีลูกค้าชาวไทยในสัดส่วน 75% ของลูกค้าทั้งหมด และเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ Base มีแผนขยายไปที่สิงคโปร์ เนื่องจากตัวเลขอัตราผู้เป็นสมาชิกฟิตเนสในประเทศไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่คิดเป็น 7-8% ของประชากร และในสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำตลาดนี้มีสัดส่วนที่ 20% ของจำนวนประชากร

เปิด The Fit Guide เพิ่มโอกาสรายได้

เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างช่องทางรายได้ใหม่ แจ็ค โธมัส ได้ร่วมก่อตั้ง The Fit Guide แพลตฟอร์มให้คะแนนสตูดิโอฟิตเนส เพื่อสร้างมาตรฐานกลาง และเพิ่มความเชื่อใจให้กับผู้บริโภคในการเข้าไปใช้บริการ คล้ายกับการให้คะแนนมาตรฐานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร และโรงแรม

“เราเริ่มต้นที่นิวยอร์ก, ลอนดอน และสิงคโปร์ ส่วนในกรุงเทพอยู่ระหว่างวางแผน เพราะฟิตเนสในกรุงเทพเปลี่ยนไปมาก หลายที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม และเราอยากช่วยพวกเขาสื่อสารให้คนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายว่าที่นี่ดี และให้บริการคุ้มค่ากับที่เสียค่าบริการ”

The Fit Guide จะช่วยให้สตูดิโอฟิตเนสรู้มาตรฐานตัวเองว่าเป็นอย่างไรเพื่อนำไปปรับแก้ไข และใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยทำตลาด ควบคู่ไปกับการช่วยให้ยิมต่าง ๆ ทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตไปด้วยกันกับแพลตฟอร์มนี้ โดยปัจจุบัน The Fit Guide ให้บริการผ่านเว็บไซต์เท่านั้น และจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันภายหลัง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา