Vision ล่าสุดของ Jack Ma “วันนี้ Alibaba ใหญ่ขึ้น และเราต้องเปลี่ยน Mindset”

Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว Bloomberg เพื่อฉลองครบรอบ 18 ปีการก่อตั้งบริษัท ซึ่งเขาได้เผยวิสัยทัศน์และมุมมอง รวมทั้งคำถามที่หลายคนอาจสงสัยว่า Alibaba จะทำอะไรต่อไปให้โลกตะลึงได้อีกในอนาคต

วันนี้เราใหญ่เกินกว่าจะคิดแบบเดิม

Jack Ma เริ่มเล่าถึง Alibaba ในอดีต โดยบอกว่าในวันที่เขาก่อตั้งบริษัทในห้องพักเล็กๆ มาจนวันนี้บริษัทมีมูลค่ากิจการ 4.6 แสนล้านดอลลาร์ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เมื่อบริษัทใหญ่ยักษ์ขึ้น จะคิดแบบเดิมๆ นั้นไม่ได้

Alibaba ในช่วงแรกของการก่อตั้ง

เขาบอกว่าวันนี้ที่บริษัทเล็กๆ เราเลือกทำอะไรที่เล็กๆ ไม่ต้องมี Assets มากมายนั้นเหมาะสม แต่เมื่อคุณโตขึ้นใหญ่ขึ้น บริษัทก็ต้องกล้าลงทุนในสิ่งที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ดี ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนสูงมารองรับ เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนการปีนเขา ยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ อากาศก็มีน้อยลง คนที่ปีนมาด้วยกันก็ยิ่งน้อยลง จึงต้องกล้าทำอะไรที่ยากขึ้น แม้จะรู้สึกโดดเดี่ยวทำอยู่คนเดียว

การแข่งขันกับ Tencent

ถึงแม้ Alibaba จะเป็นบริษัทใหญ่มาก แต่ในประเทศจีน Alibaba ก็ยังไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่สุด ยังมี Tencent บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่ของจีน เจ้าของแอพ WeChat ที่มีมูลค่ากิจการสูงกว่า และมีส่วนแบ่งในการจ่ายเงินผ่านมือถือมากกว่า Alipay เมื่อถามถึงเรื่องนี้ Jack Ma ให้ความเห็นน่าสนใจทีเดียว

เขาบอกว่า Tencent นั้นไม่มีประสบการณ์ในตลาดระดับโลกมากเท่ากับที่ Alibaba มี หรือแม้แต่ Amazon เอง เขาก็มองว่าอาจไม่มีมากเท่าที่ Alibaba มีด้วยซ้ำ ในโลกอีคอมเมิร์ซนั้นเพิ่งถือกำเนิดได้ราว 25 ปี จึงไม่ถือว่ามีใครที่เก่งหรือเชี่ยวชาญที่สุด และสิ่งที่ยากที่สุดของอีคอมเมิร์ซคือการเจาะตลาดแต่ละประเทศ

เขาย้ำว่าเวลา Alibaba ทำตลาดต่างประเทศนั้น ต้องระลึกอยู่เสมอว่าเราไม่ได้เอา Alibaba ไปทำตลาด แต่เรากำลังขยาย infrastructure ของการทำอีคอมเมิร์ซไปสู่แต่ละพื้นที่ อันได้แก่ ระบบจ่ายเงิน ระบบการขนส่งสินค้า ระบบคลาวด์ นั่นคือพื้นฐานสำคัญของการทำอีคอมเมิร์ซ เราถึงจะเจาะทุกตลาดท้องถิ่นได้สำเร็จ เขาเชื่อว่า Tencent ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ Alibaba มั่นใจเพราะทำสิ่งนี้มานานแล้ว เขายังยกตัวอย่าง WeChat Pay ว่า ในจีนนั้นอาจจะทำได้เพราะคนจีนใช้กันหมด แต่เมื่อจะเจาะตลาดอินเดีย ก็ไม่ง่ายเพราะคนอินเดียไม่ใช้ แบบนี้เป็นต้น

เราคือบริษัท Data

Jack Ma พูดถึงความแข็งแกร่งอีกอย่างคือข้อมูล โดยเล่าว่าตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว เขาพูดกับพนักงาน Alibaba ว่า เราไม่ใช่บริษัทอีคอมเมิร์ซอีกต่อไป แต่เราคือบริษัท Data หรือบริษัทข้อมูล ซึ่งยุทธศาสตร์ตอนนั้นเองก็ถูกต้านจากพนักงานไม่น้อย เนื่องจากต้องมีการปรับในองค์กรเยอะ ส่วนหนึ่งเพราะคนยังมองไม่เห็นว่าจะทำเงินอย่างไรจากข้อมูล แต่มาวันนี้ก็คงเห็นแล้วว่า ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญไม่ต่างจากน้ำมันในอดีต

ความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน

Alipay เป็นธุรกิจการเงินที่เข้ามา disrupt และสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลจีนอยู่ไม่น้อย เพราะธนาคารขนาดใหญ่ในจีนส่วนมากมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เรื่องนี้ Jack Ma ยอมรับว่าทำให้การเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างท้าทาย

Jack Ma

เขาบอกว่าหลักการในการเจรจากับหน่วยงานรัฐคือ “รักได้แต่อย่าผูกพัน” (หมายเหตุ: มีการแก้ไขตามที่มีผู้เสนอแนะต้นฉบับใช้คำว่า fall in love, but not to marry) ส่วนหนึ่งเพราะสิ่งที่ Alibaba ทำเป็นเรื่องใหม่ กฎระเบียบที่ดูแลของรัฐนั้นหลายครั้งจึงไม่ชัดเจน และนั่นทำให้การเจรจาทุกครั้งยุ่งยากมาก เขายอมรับว่าธนาคารดั้งเดิมในจีนล้วนไม่ชอบสิ่งที่ Alibaba ทำอยู่ และในมุมของ Ma เขาไม่สนใจซื้อกิจการธนาคารหรือเข้าไปเปลี่ยนด้วย แต่บอกว่าธนาคารนั่นแหละที่ต้องปรับตัวเอง

วิสัยทัศน์เรื่องซูเปอร์มาร์เก็ตออฟไลน์

กลยุทธ์หนึ่งที่ทั้ง Alibaba และ Amazon มาทำเหมือนกันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือการซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต (Amazon ซื้อ Whole Foods ส่วน Alibaba ซื้อ Hema) อะไรทำให้ทั้งสองยักษ์อีคอมเมิร์ซมาสนใจซูเปอร์มาร์เก็ต เรื่องนี้ Joseph Tsai รองประธาน Alibaba ก็ได้ให้คำตอบไว้

ซูเปอร์มาร์เก็ต Hema ที่ Alibaba ซื้อกิจการไป

เขาบอกว่าการซื้อห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผ่านมาของ Alibaba เป็นการสาธิตมากกว่าจะขยายการซื้อกิจการในอนาคต โดยมองว่าสถานที่เหล่านี้คือที่จัดส่งสินค้า ที่ๆ ใกล้ชุมชน ลูกค้าแต่ละคนสามารถเลือกได้ระหว่างมาซื้อของเองที่ห้าง หรือจะสั่งซื้อสินค้าให้มาส่งที่บ้าน ซึ่งทำการจัดส่งในเวลาที่สั้นมาก

Alibaba ไม่มีแผนที่จะซื้อห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตให้มากขึ้นในอนาคต Tsai มองว่าไม่จำเป็น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์มูลค่าสูง แต่หวังว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน Hema จะเป็นภาพสาธิตให้เห็นว่าห้างแบบ Online-Offline เป็นอย่างไร และจะหาพาร์ทเนอร์ในอนาคตได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ท้าทายต่อจากนี้คือหากปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น การจัดส่งแพ็คเกจของแต่ละวันจะทำอย่างไร ทุกวันนี้ Alibaba มีคำสั่งซื้อกว่า 55 ล้านครั้งต่อวัน และเขาเชื่อว่าอนาคตอาจถึง 1 พันล้าน สิ่งที่ต้องทำคือการใช้ทุกช่องทางมาร่วมจัดส่งให้ได้นั่นเอง

ที่มา: Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา