ถอดบทเรียน Jack Dorsey ลาออกจากซีอีโอ Twitter เมื่ออนาคตบริษัทต้องมาก่อนอีโก้

Jack Dorsey ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Twitter ประกาศลงจากตำแหน่ง โดยผลัดเปลี่ยนให้ Parag Agrawal ซีทีโอ (Chief Technical Officer) เชื้อสายอินเดียขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอแทน

จุดกำเนิดของ Twitter เริ่มขึ้นในปี 2006 โดย Dorsey ซึ่งตอนนั้นเป็นนักศึกษายังเรียนไม่จบ และทำงานกับบริษัท Odeo ทดลองสร้างระบบส่งข้อความสั้นขึ้นมา หลังจากนั้น ทีมงานของ Odeo เห็นศักยภาพของมัน จึงแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่ในปี 2007 โดยช่วงแรก Dorsey นั่งเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัท

ด้วยความอ่อนประสบการณ์ และความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้ก่อตั้ง ทำให้ Evan Williams ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอแทนในปี 2008 ส่วน Dorsey เหลือเฉพาะตำแหน่งประธานบอร์ดที่ไม่มีอำนาจบริหาร ช่วงระหว่างนั้น Dorsey ไปก่อตั้งบริษัทจ่ายเงินผ่านมือถือชื่อ Square โดยเขายังคงเป็นซีอีโออยู่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าซ้ำรอย Steve Jobs ที่ถูกปลดจากบริษัทที่เขาก่อตั้ง และใช้เวลาช่วงที่ไม่มีอำนาจบริหารไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งรวมถึงการก่อตั้งบริษัท NeXT และ Pixar

ในปี 2015 เป็นการหวนคืนของ Dorsey สู่เก้าอี้ซีอีโอ Twitter อีกครั้ง หลังบริษัทประสบปัญหาจำนวนผู้ใช้ไม่เติบโต ทำให้บอร์ดเรียกหา Dorsey ในฐานะผู้ก่อตั้งกลับมาปลุกจิตวิญญาณของบริษัทขึ้นมาใหม่ ซึ่งรอบนี้ Dorsey กลับมาเป็นซีอีโอภายใต้เงื่อนไขว่า เขายังต้องเป็นซีอีโอของ Square ควบไปด้วย ทำให้สถานะของเขากลายเป็นซีอีโอที่นั่งควบตำแหน่งสองบริษัทไอทีในตลาดหลักทรัพย์

Jack Dorsey
Jack Dorsey CEO ของ Twitter

ในวาระการเป็นซีอีโอรอบที่สองของ Dorsey เป็นเวลานาน 6 ปี เขานำพา Twitter กลับมาเติบโต สร้างรายได้จากโฆษณา มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Spaces และเผชิญหน้าวิกฤตครั้งสำคัญ เมื่อ Donald Trump หันมาใช้แพลตฟอร์ม Twitter เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารทางการเมืองจนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และสุดท้ายก็โดน Twitter ภายใต้ยุคของ Dorsey สั่งแบนบัญชีในช่วงเหตุการณ์บุกยึดอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อต้นปี 2020

ในจดหมายลาออกของ Dorsey เขาบอกว่าตั้งใจลงจากตำแหน่งซีอีโอ เพราะมองหาสถานะ “ผู้ก่อตั้ง” ของเขาเป็นปัญหามากกว่าจุดแข็ง เขาบอกว่าในสถานะผู้นำบริษัท เขากลายเป็นจุดอ่อนที่สุด (single point of failure) และถ้าเขาตัดสินใจหรือทำอะไรผิดพลาด บริษัทก็จะมีปัญหาไปด้วย เพราะทุกคนเคารพเขาในฐานะผู้ก่อตั้ง

ในมุมมองของ Dorsey เอง เขาจึงพยายามปลดพันธนาการของบริษัทออกจากสถานะผู้ก่อตั้ง โดยผลักดันผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาสืบทอดตำแหน่งซีอีโอแทน ซึ่ง Parag Agrawal เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะอยู่กับบริษัทมานาน มีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรอย่างลึกซึ้ง และมีผลงานการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของบริษัทอยู่เสมอมา

Dorsey ยังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยว่า เขาจะยังคงตำแหน่งในบอร์ดไปจนครบเทอมในเดือนพฤษภาคม 2022 จากนั้นจะลาออกจากบอร์ดไปด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ Parag ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจผู้ก่อตั้งเดิม โดยเขาขอให้ Bret Taylor ผู้บริหารคนดังของวงการ (เคยเป็นซีทีโอของ Facebook และปัจจุบันเป็นซีโอโอของ Salesforce) มารับตำแหน่งประธานบอร์ด เพื่อควบคุมทิศทางของบริษัทอย่างเหมาะสม

Dorsey บอกว่าการตัดสินใจลงจากตำแหน่งของเขาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะมีผู้ก่อตั้งน้อยรายที่เลือกอนาคตของบริษัท มากกว่าเลือกนั่งอยู่ในตำแหน่งเพื่อตอบสนองอีโก้ของตน ซึ่งเขาตั้งใจพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

แนวทางของ Dorsey ในการลงจากตำแหน่งและเปลี่ยนถ่ายอำนาจในช่วงเวลาที่เหมาะสม (ฟื้นฟูบริษัท ผ่านวิกฤตสำคัญๆ และปั้นผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนได้) ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Mark Zuckerberg ที่ยังกอดเก้าอี้ซีอีโอของ Facebook อย่างเหนียวแน่น แม้ถูกวิจารณ์หนักแค่ไหนก็ตามที

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา