เปิดข้อสรุป ITV หลังผู้สมัคร สส. ปาร์ตี้ลิสต์พลังประชารัฐร้อง: เลิกกิจการแล้ว แต่ยังมีเรื่องฟ้องร้องค้างอยู่

เปิดข้อสรุปเรื่อง ITV หรือบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

หลังจากเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยอยู่มาก่อน หลังทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้ยุบสภาและเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเดียวกันนี้มีประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นหัวหน้าพรรค

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เรืองไกรยื่นคำร้องให้ กกต. ตรวจสอบพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลำดับที่ 1 และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรค

เรืองไกรระบุว่าประเด็นหุ้นไอทีวีอาจเข้าข่ายขัดคุณสมบัติการสมัครรับเลือกตั้ง เรื่องนี้ อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ThaiPBS สรุปสาระสำคัญภาพรวมการประกอบธุรกิจของ ITV ดังนี้

1. หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2557

3. ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า

-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท

3.1 ต่อมา สปน. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอาณุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.

3.2 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

4. ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

5. ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือบ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพบต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนนิงานบ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือบ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (ความเห็นผู้เขียน)

หมายเหตุ ข้อ 7 เป็นความเห็นส่วนตัว / ส่วนข้อ 1-6 เป็นข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ของ ITV

ITV ไอทีวี
สรุปความเป็นมาและภาพรวมของ ไอทีวี

📍 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อบริษัทสยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ก่อตั้ง 9 พฤษภาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และเพิ่มทุนเป็น 1,000 ล้านบาทในปีเดียวกัน

📍 บริษัทสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติจาก สปน. (สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ให้เป็นผู้ดำเนินงานสาถานีโทรทัศน์ภายใต้สัญญาเข้าร่วมมงานดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF Ultra High Frequency) เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุด 3 กรกฎาคม 2568 ภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

📍 สถานะปัจจุบัน จำเป็นต้องหยุดประกอบธุรกิจ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานของ สปน. และ ตลาดหลักทรัพย์มีมติเพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการจดทะเบียน มีผลตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป (เหตุเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

📍 มีบริษัทในเครือ บริษัทอาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด
ประกอบธุรกิจให้เช่าอุปกรณืผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมตลาดอื่นๆ *สถานะปัจจุบัน* หยุดการดำเนินธุรกิจ

📍4 มกราคม 2550 บริษัทได้ยื่นข้อพิพาทเรื่องค่าปรับจากการปรับผังรายการและดอกเบี้ยในค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ส่วนเรื่องค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างจำนวน 2,210 ล้านบาทนั้น เพื่อเป็นการประนีประนอมให้ดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ เป็นไปโดยราบรื่น มิให้ สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ อันจะมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัท บริษัทจึงเสนอเงื่อนไขขอประนีประนอมโดยเสนอแนวทางจ่ายเงิน 2,210 ล้านบาท ซึ่ง สปน. ปฏิเสธเงื่อนไขการให้สถาบันอนุญาโตตุลาการชี้ขาดหนี้ และปฏิเสธแนวทางการชำระเงินค่าอนุญาต ให้ดำเนินการดังกล่าวทุกแนวทางการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550

📍1 กุมภาพันธ์ 2559 บริษัทได้รับสำเนาคำชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 สาระสำคัญคือ
– การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
-ให้ สปน. ชดใช้ความเสียหายแก่บริษัท รวมจำนวน 2,890,345,205.48 บาท

– ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ปรับลดค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงานเมื่อ 13 ธันวาคม 2549 บริษัทจึงต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง จำนวน 2,886,712,328.77 บาทให้แก่ สปน. โดยถือว่าบริษัทผิดนัดชำระนับตั้งแต่ 4 มีนาคม 2550 จนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2550 คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,632,876.77 บาท รวมเป็นเงินที่บริษัทต้องชำระให้แก่ สปน. เป็นเงินจำนวน 2,890,345,205.48 บาท บริษัท และ สปน. ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันในจำนวนเงินเท่ากันคือ 2,890,345,205.48 บาท ซึ่งหักกลบลบกันแล้วต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน

*ปัจจุบัน*: คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ด้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงว่า ไม่ใช่หุ้นของตนเอง เป็นของกองมรดกและมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก เขาได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว

“กรณีบุคคลเตรียมยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อมวลชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) กรณีที่กล่าวหาว่าผมถือหุ้น ITV ทำให้มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.”

“ต่อกรณีนี้ ผมไม่มีความกังวลเพราะ เพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว ทีมกฎหมายพร้อมชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา เรื่องนี้ อยากฝากให้ทุกคนตั้งใจดูให้ดี เพราะอาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล เพราะเรากำลัง #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”

“ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวาง #ก้าวไกล เราได้อีกแล้วครับ”

ที่มา – FB Anupong Chaiyariti, Tim Pita, Intouch Company, PPTV, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา