ประเด็นการเมืองอิตาลีสำคัญหรือไม่ในการลงทุนช่วงนี้?

ประเด็นสำคัญในช่วงนี้คือเรื่องของการเมืองอิตาลีที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกทำให้ตลาดหุ้นแต่ละที่นั้นตกลงไม่ต่ำกว่า 1-2% ในช่วงที่ผ่านมา เป็นความกังวลต่อเนื่องจากเมื่อต้นปีเมื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้พุ่งไปที่ 3%

ภาพจาก Shutterstock

ความผันผวนในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาทำให้หุ้นทั่วโลกรวมไปถึงที่ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ทาง Brand Inside ได้สัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และรวมไปถึงบทวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ตัดสินใจในการลงทุนได้ถูกต้อง

มันเกิดอะไรขึ้น

เซอร์จิโอ มัตเตเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลีได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ คาร์โล คอตตาเรลลี ซึ่งเคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของทาง IMF มาก่อน และจะมีการนำเสนอชื่อรายชื่อรัฐมนตรีเร็วๆ นี้

แต่ทาง 2 พรรคใหญ่ได้แก่ พรรค 5 Star Movement และ พรรค Lega ที่ชนะการเลือกตั้งอาจไม่ได้สนับสนุนคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการนี้แน่นอน เพราะว่าทั้ง 2 พรรคใหญ่พยายามจัดตั้งรัฐบาลแต่โดนประธานาธิบดีนั้นขัดขวางไม่ให้แต่งตั้ง เปาโล ซาโวนา ไม่ให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพราะว่าซาโวนา เคยกล่าวว่าเงินยูโรเปรียบเหมือนกรงขังของทางเยอรมัน

แน่นอนว่าความปั่นป่วนของการเมืองอิตาลีในรอบนี้ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับที่ทางอิตาลีอาจออกจากกลุ่มยูโรโซน และยังทำให้เกิดความผันผวนขึ้นกับสินทรัพย์ประเภทต่างๆ อีกด้วย โดยเฉพาะผลตอบแทนของพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีพุ่งสูงขึ้นทันที 

สถาบันการเงินต่างชาติเชื่อว่ามีความผันผวน

ส่วนทางด้านบทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองของอิตาลีที่ยังไม่แน่นอนจะยังกดดันราคาสินทรัพย์ต่อไป โดย 3 ประเด็นสำคัญของ Goldman Sachs ที่เน้นคือเรื่อง

  • 2 พรรคใหญ่จะสามารถนำนโยบายมาใช้ตอนเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้หรือไม่
  • ปัญหาหนี้ของประเทศอิตาลี
  • อิตาลียังอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่

ส่วน HSBC มองว่าอาจได้เห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ของอิตาลีภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แต่จะเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นถึงเรื่องความไม่แน่นอนในช่วงนี้ โดยมองว่าประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งต่อไปคือเรื่องของการปฏิรูปด้านนโยบายการคลัง ไม่ใช่เรื่องของการออกจาก EU โดย HSBC ให้ข้อมูลว่าประชาชนอิตาลียังสนับสนุนให้อยู่ในสหภาพยุโรปเกิน 50% ด้วยซ้ำ

เรื่องอิตาลีกังวลได้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ควรกังวล

Brand Inside ได้สัมภาษณ์ สุรศักดิ์ ธรรมโม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ. วรรณ เกี่ยวกับเรื่องประเด็นนี้ เขากล่าวว่า ความกังวลของตลาดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอิตาลีเป็นเรื่องกังวลได้ แต่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องกังวล

ส่วนเรื่องที่อิตาลีจะออกจาก EU นั้นเป็นไปได้น้อยมาก เพราะว่าเป้าหมายของ 2 พรรคในอิตาลีคือเรื่องของประชานิยม เพราะว่าฐานเสียงนั้นคือประชาชนรากหญ้าของอิตาลีเอง ซึ่งรัฐบาลใหม่พยายามที่จะขอขาดดุลการคลังเพื่อเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่วนทางด้านของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป สุรศักดิ์เชื่อว่าน่าจะมีท่าทีที่ผ่อนคลายกับเรื่องนโยบายของอิตาลีมากขึ้น และอิตาลีคงไม่ได้คิดออกจาก EU แน่นอน

หลังยุค QE ก็เรื่องใหญ่

สุรศักดิ์ กล่าวถึงภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้คือเรื่องของการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของหลายๆ ประเทศ และรวมไปถึงธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า ซึ่งทางธนาคารกลางสหรัฐกำลังทยอยขึ้นดอกเบี้ย และยุโรปเองก็กำลังจะเลิกนโยบายนี้ด้วย

โดย 10 ปีที่ผ่านมาของนโยบายผ่อนคลายทางการเงินผลักดันให้ราคาสินทรัพย์ทั้งมีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น หรือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำลงมาอย่างพันธบัตร มีราคาสูงขึ้น ถ้าหมดยุคผ่อนคลายทางการเงิน แล้วธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐยืนได้เหนือ 3% ได้เมื่อไหร่ ตลาดจะมีความผันผวนมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

อนาคตเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับจีนและสหรัฐ

เขายังได้เสริมอีกว่าหลังจากนี้ไปประเด็นความสัมพันธ์ของของจีนและสหรัฐนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญมากนับจากนี้ไป

เพราะว่าถ้าหากความสัมพันธ์ยังกระท่อนกระแท่นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ และยังจะกระทบไปถึงเรื่องของความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งถ้าหากความสัมพันธ์และเรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดก็จะได้รับผลดีตามไปด้วยเช่นกัน

มุมมองการลงทุนในช่วงนี้

สำหรับมุมมองการลงทุนหลังจากนี้ สุรศักดิ์ให้ความเห็นว่า ถ้าสำหรับการลงทุนในหุ้น จะมีสองแนวทางไปเลยสำหรับช่วงนี้

  • เลือกหุ้นที่มี Valuation ที่ถูกมากๆ เช่น กลุ่มการเงิน ประกันภัย
  • เลือกหุ้นที่เติบโตมากๆ หรือ Super Growth เช่น กลุ่มเทคโนโลยี การรายงานกำไรของกลุ่มเหล่านี้สามารถเอาชนะการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ได้ตลอด ยกตัวอย่างเช่น Microsoft หรือ Amazon

การที่ต้องเลือก 2 กลุ่มนี้เพราะว่าเรื่องสำคัญอยู่ที่การ Re-Rate ของตลาดถ้าหากเกิดการผันผวนของราคาสินทรัพย์ ถ้าหากเป็นหุ้นกลุ่ม Growth แต่ถ้าการรายงานกำไรแต่ละไตรมาสไม่ดีก็อาจโดน Re-Rate ปรับลงมา ซึ่งเป็นความเสี่ยง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ