ในปี 2563 ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วน จึงไม่แปลกที่วงการไอที-โทรคมนาคมจะมีโอกาสเติบโตขึ้นอีก ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะถึงจะมี COVID-19 เข้ามาเบรก แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวก็ยังมีกระแสต่างๆ เข้ามาช่วย
เริ่มต้นปีด้วยกระแส 5G
ในฝั่งโทรคมนาคม สิ่งที่เริ่มต้นในปี 2563 ไม่พ้น 5G เพราะการประมูล 5G เสร็จสิ้นในเดือนก.พ. มีเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท โดย AIS และ True ได้คลื่นไปจำนวนมาก ส่วน dtac ได้คลื่นน้อยกว่าที่หลายคนคาดการณ์ นอกจากนี้ยังมี TOT และ CAT ที่ได้คลื่นจากการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้เช่นกัน
เมื่อการประมูลจบลง AIS และ True ต่างประกาศกลยุทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และเอกชนเพื่อยกระดับการดำเนินกิจการด้วยความเร็ว และเสถียรของ 5G รวมถึงการเจรจากับค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเพื่อให้นำเข้า Smartphone ที่รองรับ 5G มามากขึ้น พร้อมกับการทำแพ็คเกจพิเศษเพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ใช้งาน 5G
แต่พอเข้าเดือนมี.ค. ทุกอย่างก็ต้องมาปรับกระบวนท่าใหม่ เพราะมีการระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะในมุมสื่อสารการตลาด ทำให้ AIS และ True หันมาขยายเครือข่าย 5G ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเพื่อรองรับการใช้งานเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ
กระแส Work from Home เติบโต
การระบาดของโรค COVID-19 ในไทยยังไม่หยุดง่ายๆ ทำให้เดือนเม.ย. ทุกองค์กรแทบจะต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home และองค์กรต่างๆ ต้องหาอุปกรณ์ และเทคโนโลยีมาให้พนักงานทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใกล้เคียงกับการทำงานที่ออฟฟิศ
จากกระแส Work form Home ทำให้ค่ายผู้ผลิตสินค้าไอทีทั้งคอมพิวเตอร์, บริการออนไลน์ และอื่นๆ ต่างได้รับประโยชน์ แต่ก็ไม่เต็มที่นัก เพราะซัพพลายสินค้าไม่เพียงพอ อิงจากความต้องการที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก และซัพพลายไม่เพียงพอจากการที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน
ในทางกลับกันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเน็ตบ้าน ต่างแข่งกันออกแพ็คเกจราคาประหยัดเพื่อจูงใจ และตอบโจทย์ลูกค้าองค์กร รวมถึงบุคคลทั่วไปได้ดีขึ้น แต่การทำกลยุทธ์นี้ทำให้ค่าเฉลี่ยค่าบริการต่อเดือน หรือ ARPU ลดลงด้วย เช่น AIS ที่ลดลงอย่างชัดเจน
งานไอที-มือถือปรับตัวไปออนไลน์
แม้งาน Thailand Mobile Expo (TME) และ Commart ในไตรมาสแรกจะจัดแบบเว้นระยะป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 แต่ในครั้งกลางปี TME เริ่มปรับตัวด้วยการจัดงานแบบออนไลน์ควบคู่ไปด้วยผ่านความร่วมมือกับ Lazada ซึ่งสรุปแล้วผลตอบรับก็ออกมาดี และความร่วมมือก็เกิดขึ้นในครั้งปลายปีด้วย
สำหรับภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือในปี 2563 พระเอกของตลาดน่าจะเป็นรุ่นระดับกลาง หรือราว 20,000 บาท เพราะบางแบรนด์มีรุ่น 5G ให้เลือก ทั้งยังใส่คุณสมบัติต่างๆ มาจัดเต็ม ส่วนรุ่นสูงสุดของแต่ละแบรนด์ยังไม่โดดเด่นจากรุ่นของปีก่อนหน้านี้นัก อาจเพราะใกล้ถึงจุดตันของตลาด Smartphone แล้ว
และแบรนด์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คงไม่พ้น Huawei ที่ก่อนหน้านี้เป็นแบรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย แต่เมื่อตัวเครื่องไม่รองรับบริการ Google ยอดขายก็ตกลงอย่างหนัก และไม่มีทีท่าว่าจะกลับมายืนในตลาดนี้เหมือนเดิม เพราะถึงจะมี Huawei Mobile Services แต่มันก็ตอบโจทย์การใช้งานได้ไม่เหมือนบริการ Google
ปิดปีด้วย Cyberattack หลายกรณี
หลังจาก COVID-19 เริ่มทุเลาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (แม้ตอนนี้จะเริ่มกลับมาใหม่แล้ว) ข่าว Cyberattack หรือการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหลอกลวงทาง iMessage, การส่งข้อความหลอกลวงเกี่ยวกับบริการทางการเงิน รวมถึงการถูกผู้ไม่ประสงค์ดีเจาะระบบเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐมากมาย
ส่วนนี้ทำให้ธุรกิจประกันภัย เริ่มจัดกรมธรรม์ที่คุ้มครองดูแลความเสียหายจากอาชญากรมไซเบอร์มากขึ้น เช่นทิพยประกันภัย จับมือกับซิสโก้ เปิดบริการด้านนี้โดยเฉพาะ และเชื่อว่าจะมีบริษัทประกันภัยเข้ามาให้บริการมากขึ้น คล้ายกับการประกันภัยจากธรรมชาติ
และปิดปีด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็น Cyberattack แต่กระทบกับผู้บริโภคในวงกว้าง นั่นคือการที่ระบบส่ง SMS ของ dtac มีปัญหาในวันที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ทำให้เกิดการร้องเรียนจำนวนมาก และสุดท้าย dtac ก็ต้องชดเชยอย่างเท่าเทียมกับสิ่งที่ผู้บริโภคสูญเสียไป
สรุป
ในปี 2563 โลกเข้าสู่ดิจิทัลเร็วขึ้นผ่านการถูก COVID-19 เร่งปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นการ Work from Home การซื้อสินค้าออนไลน์ และการลงทุนดิจิทัลอื่นๆ จึงเชื่อว่าในปี 2564 อัตราเร่งนั้นยังมีอยู่ และน่าจะเข้มข้นกว่าเดิม เพราะทุกคนคุ้นเคยกับดิจิทัล และใครที่ไม่ยอมเดินตามก็คงจะตกขบวนแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา