เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 กับบทพิสูจน์ความสำเร็จจาก “คน-ธุรกิจ-เมือง” หัวใจที่ขับเคลื่อนอีสานให้ “โชว์พ(ร)าว” อย่างมีคุณค่า

การจัดเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 หรือ Isan Creative Festival 2025 (ISANCF2025) เป็นเวทีแสดงศักยภาพสร้างสรรค์และเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่สะท้อนพลังของผู้คนจากหลากหลายกลุ่มที่มารวมตัวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับ“คน-ธุรกิจ-เมือง” ของตนเอง

ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของเมือง แต่ยังเปลี่ยนแปลง “วิธีคิด” ของผู้คน ให้กล้าลงมือทำและริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วภาคอีสาน ตลอด 9 วันของการจัดงาน ISANCF2025 ที่จังหวัดขอนแก่นเป็นหลัก ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 956 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมทั้งชาวไทยและต่างชาติไม่น้อยกว่า 200,000 คน ผู้ร่วมจัดงานในภูมิภาคอีสานและอื่น ๆ กว่า 1,000 คน และเครือข่ายต่างประเทศที่เข้าร่วม 9 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และฟินแลนด์ นอกจากนี้ เทศกาลฯ ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน, คนรุ่นเก๋าที่อยากส่งต่อความเชี่ยวชาญ, นักวิชาการที่ต้องการต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์, นักธุรกิจที่ได้รับแรงบันดาลใจและอัปสกิลของตนเอง, นักสร้างสรรค์ที่ได้โชว์ศักยภาพและจำหน่ายผลงาน,นักพัฒนาเมืองที่อยากเห็นอีสานเติบโตทั้งภูมิภาค ตลอดจนหลายครอบครัวที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนและสัมผัสโลกของความสร้างสรรค์ ในเทศกาลฯ พร้อมต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งหมดนี้สะท้อนพลังของเทศกาลสร้างสรรค์ระดับภูมิภาคที่สามารถยกระดับ “คน” ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทุกมิติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการจัดเทศกาลฯ  เราเริ่มเห็นแนวทางของการพัฒนาภูมิภาคอีสานให้มีความโดดเด่น ในฐานะ ‘พื้นที่ทางเศรษฐกิจ’ ทั้งการพัฒนาพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ให้กับผู้ประกอบ นักสร้างสรรค์ ศิลปิน และชุมชน, การพัฒนาคอนเทนต์วัฒนธรรมอีสานให้สามารถต่อยอดเชิงเศรษฐกิจ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอีสานให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่ พร้อมกับการวางโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงของหน่วยงานรัฐส่วนท้องถิ่นที่ร่วมกันยึดแนวคิด ‘อีสานสร้างสรรค์’ เป็นสำคัญ นั่นคือการเน้นย้ำว่าอีสานพร้อมแล้วที่จะเป็น ‘ภูมิภาคแห่งโอกาส’ และสนับสนุนกระบวนการ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของประเทศ ฉะนั้น Roadmap ของเทศกาลฯ ในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป จะเป็นโมเดลที่ผสมผสานความเป็นอีสานแบบ ‘Glocal Collaboration’ หรือการพัฒนาอีสานในศตวรรษที่ 21 ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น การ Scaling Up ธุรกิจสร้างสรรค์ให้พร้อมสู่ตลาดจริง, การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ (Global Partnership), การให้องค์ความรู้และมุมมองเทรนด์แห่งอนาคต, การผลักดันการสร้าง Isan Creative Export Platform, การเปิดโอกาสให้กลุ่ม Isan Homecomer กลับมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในบ้านเกิด รวมถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เส้นทางที่เราวางไว้จะช่วยขับเคลื่อนโอกาสใหม่ให้แก่อีสาน โดยครอบคลุมทั้งมิติธุรกิจ คน และการพลิกโฉมเมืองไปพร้อม ๆ กันได้อย่างมั่นคง”

จากแนวคิด “อีสานโชว์พ(ร)าว – ISAN SOUL PROUD” ของการจัดเทศกาลฯ ในปีนี้ สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดตลอดเทศกาลฯ คือภาพของ “พลังแห่งความร่วมมือ” ที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ตั้งแต่ CEA ในฐานะผู้จัดงานหลัก ภาคธุรกิจ กลุ่มนักสร้างสรรค์และศิลปิน พลังของชุมชนท้องถิ่น และพันธมิตรระดับโลก ที่ร่วมกันนำ “คุณค่า” ในแบบฉบับของตนเอง มาต่อยอดให้กลายเป็นภาพใหญ่ของเศรษฐกิจอันน่าทึ่งของอีสานยุคใหม่ เทศกาลฯได้มีการนำเสนอศักยภาพของอีสานใน 3 มิติหลักอย่างชัดเจน ทั้งโอกาสจากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่นำรากเหง้า วิถีชีวิต และวัฒนธรรมมาผลักดันซอฟต์พาวเวอร์, โอกาสจากศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนา “ชุมชนสาวะถี” และ “โคลัมโบ” ให้เป็นย่านน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าเที่ยว รวมถึงโอกาสจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่นำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดกิจกรรมกว่า 200 โปรแกรมใน 7 รูปแบบ ทั้งหมดนี้ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ผ่านแกนหลักที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่าง “คน-ธุรกิจ-เมือง”

คน: เมื่อซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มต้นจากความภาคภูมิใจในตัวตน

หัวใจสำคัญของเทศกาลฯ ไม่ใช่เวทีหรืองานจัดแสดง หากแต่คือ “คน” ที่ลุกขึ้นมาสร้างคุณค่าจากสิ่งที่ตัวเองเป็น เทศกาลฯ ในปีนี้จึงเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของ “ตัวตน” จากทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักศึกษา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ไปจนถึงศิลปินผู้กลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ จากทุนทางวัฒนธรรมที่มี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพลังสร้างสรรค์ผ่านแฟชั่นโชว์ “อีสานโชว์พ(ร)าว” ที่นำเสนอความร่วมสมัยของอัตลักษณ์อีสานผ่านผลงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่, ISAN Music Talent พื้นที่โชว์ศักยภาพของศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าในเวทีดนตรีร่วมสมัย ไปจนถึงนิทรรศการ กลับอีสานดีกว่า! The Pavilion ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวอีสานคืนถิ่น ซึ่งเลือกกลับบ้านมาสร้างตัว สร้างธุรกิจ และสร้างอนาคตใหม่ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่ตนเองเติบโตมากับมัน

ในมิติการพัฒนา “คน” เทศกาลฯ ยังได้รับการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ และการเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเวที Creative Wisdom Talk ที่มุ่งพัฒนาแนวคิดและทักษะสำคัญของนักสร้างสรรค์ยุคใหม่, เวิร์กช็อป Projection Mapping Workshop x TIMAC x Epson ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนท้องถิ่นได้เรียนรู้เทคโนโลยีการเล่าเรื่องแบบ Immersive Experience รวมถึง Digital Skills for Local Future “ฟ้าวฟิวเจอร์ ปล่อยพลังฝันแบบฟ้าว ๆ” โดย Copilot by Microsoft ที่ช่วยให้คนทำงานในอีสานเข้าถึงการใช้งาน AI ผู้ช่วยอัจฉริยะบน Microsoft 365 เพื่อยกระดับความสามารถทางดิจิทัลทั้งในชีวิตและธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีเวที Content Lab: Newcomers ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย เพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างเส้นทางอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคที่สนใจสายงานด้าน Creative Content

ทั้งหมดนี้สะท้อนแนวคิดสำคัญของเทศกาลฯ ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่ได้เริ่มต้นจากแค่นโยบายหรือการตลาดระดับชาติ แต่เริ่มต้นจาก “ความภูมิใจในตัวตน” ของคนธรรมดาที่กล้าลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตัวเองอย่างสง่างาม และเมื่อคนเริ่มพราว เมืองและภูมิภาคก็พร้อมจะเปล่งประกายไปด้วยกัน

ธุรกิจ: สร้างโอกาสใหม่ให้เศรษฐกิจภูมิภาคจากวัฒนธรรม

ในมิติของ “ธุรกิจ” เทศกาลฯปีนี้ได้แสดงให้เห็นว่าอีสานไม่เพียงมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า แต่ยังพร้อมเป็น “สนามจริง” ของการต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ครบเครื่อง ทั้งด้านเมือง โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรสร้างสรรค์ และเครือข่ายนักลงทุนที่พร้อมผลักดันเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่น งาน ISAN MICE EXPO 2025 โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ที่ยกระดับเทศกาลฯ ให้กลายเป็นแพลตฟอร์ม B2B เชิงนโยบาย จับคู่ธุรกิจจริงระหว่างนักลงทุน นักพัฒนาเมือง และผู้จัดกิจกรรมไมซ์ในภาคอีสาน นับเป็นการตอกย้ำศักยภาพของภูมิภาคนี้ในการเป็น “MICE City แห่งใหม่” ของประเทศ ขณะเดียวกัน งาน The Secret Sauce Business Weekend ก็เปิดพื้นที่เรียนรู้ ทดลอง และเชื่อมโยงเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และแบรนด์สร้างสรรค์รุ่นใหม่ ให้สามารถต่อยอดไอเดียสู่การขยายธุรกิจ และเชื่อมโยงกับนักลงทุนระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ด้านอุตสาหกรรมอาหาร “จักรวาลลาบก้อย” คือกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมอาหารอีสานไม่เพียงโดดเด่นด้านรสชาติที่น่าจดจำ แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สร้างมูลค่าผ่านการออกแบบ รสชาติ และเรื่องเล่าได้อย่างแข็งแรง  ขณะที่ “ISAN MU-NIVERSE” หรือ “จักรวาลงานคราฟต์สายมู” ก็เปิดมุมมองใหม่ของเศรษฐกิจจาก “ความเชื่อ” ในฐานะวัตถุดิบทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่กัน ทางด้าน D-KAK Market ก็เป็นตลาดสร้างสรรค์ที่รวบรวมผลงานของผู้ประกอบการท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน และนักออกแบบอีสานรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสทดลองขายจริง เชื่อมโยงกับผู้ซื้อ และได้รับคำแนะนำจากนักธุรกิจเพื่อการเติบโตระยะยาว

เทศกาลฯ จึงไม่ใช่แค่ “พื้นที่โชว์ไอเดีย” แต่คือ “เวทีธุรกิจจริง” ที่ใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นฐานในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแรง ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ

เมือง: เปลี่ยนย่านและชุมชนเป็นโมเดลพัฒนาเมืองด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น

เทศกาลฯ แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า “เมือง” สามารถพัฒนาได้จากฐานวัฒนธรรมของผู้คน ไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างกายภาพ แต่ได้นำร่องการเปลี่ยนแปลงหลายพื้นที่ จาก “ชุมชน” สู่ “ย่านสร้างสรรค์” ที่มีชีวิต ผ่านแนวคิด Creative District ที่เชื่อมโยงศิลปะ วิถีชีวิต และเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือโคลัมโบ ครีเอทีฟ ดิสทริก (Columbo Creative District) พื้นที่รวมตัวของนักสร้างสรรค์สายอาร์ต คราฟต์ ดนตรี ภาพถ่าย หัตถกรรม ไปจนถึงร้านกาแฟและร้านหนังสืออิสระ ที่ช่วยกันเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้กลายเป็นย่านแห่งแรงบันดาลใจ โดยนำเสนอทั้งนิทรรศการ การแสดงดนตรีเวทีเล็ก และกิจกรรมจากศิลปินที่สะท้อนตัวตนร่วมสมัยของเมืองขอนแก่นอย่างแท้จริงอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจับตามองคือชุมชนสาวะถี ซึ่งถูกยกระดับให้เป็น “ต้นแบบชุมชนวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่หุ่นพื้นบ้าน อาหาร ไปจนถึงเรื่องเล่าของเพื่อนบ้านและวิถีชีวิต มาร้อยเรียงและเล่าใหม่ในบริบทร่วมสมัย โดยยังคงรากวัฒนธรรมไว้อย่างกลมกลืน

ในมิติของการออกแบบเมือง เทศกาลฯ ยังได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของเมืองขอนแก่นผ่านโปรแกรม “ลอง Stay”  ที่เผยศักยภาพในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Long Stay และ Digital Nomad โดยมีจุดแข็งด้านคุณภาพชีวิต ต้นทุนที่เหมาะสม ระบบขนส่งพื้นฐาน และวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร

เทศกาลฯ จึงไม่ได้เป็นเพียงงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ยังเป็นกลไกพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผ่าน “พื้นที่จริง” “คนจริง” และ “ทุนวัฒนธรรม” สู่การเป็นโมเดลเมืองสร้างสรรค์ต้นแบบของภูมิภาค

Valentine’s Day Cake Recipes – 1

ก้าวต่อไปของ CEA: ดัน “ธุรกิจสร้างสรรค์” เชื่อม “ตลาดโลก” จัดตั้ง TCDC ในอีสาน 4 จังหวัด

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นเป็นหลัก คือจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานใหม่ให้กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระยะยาว โดย CEA มุ่งมั่นที่จะกระจายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์สู่พื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างทั่วถึง ผลักดันเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ในอีสานให้เชื่อมโยงกับตลาดและโอกาสในระดับโลกได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงเดินหน้าขยายการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แห่งใหม่ในภูมิภาคอีสานตอนล่าง 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จากเดิมที่มี TCDC ขอนแก่น ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับการลงทุน การค้า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเมืองขอนแก่นและภูมิภาคอีสานสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)  

ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่าเมื่อวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความภาคภูมิใจในตัวตนของคนอีสาน ถูกหลอมรวมเข้ากับพลังความคิดสร้างสรรค์ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์จึงสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบอนาคตทางเศรษฐกิจ สังคม และเมืองอย่างยั่งยืน รวมทั้งจุดประกายแนวคิดใหม่ให้ทั้งคนในพื้นที่และสังคมไทยได้ตระหนักว่า คนอีสานจะไม่เพียง “โชว์พ(ร)าว” แต่ยังพร้อมเปล่งประกายด้วยตัวเองอย่างสง่างามทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา