ดีจริงหรือจกตา? เจาะลึกไทยคว้า อันดับ 28 ประเทศที่ดีที่สุด และอันดับ 5 จาก 16 ประเทศเอเชีย

ดีจริงหรือจกตา? ไทยคว้าตำแหน่งประเทศที่ดีที่สุด อันดับ 28 โดย usnews ได้อันดับ 5 ของเอเชียจากทั้งหมด 16 ประเทศ ลองมาเจาะกันว่าที่ผลออกมาว่าดี สรุปแล้วดีจริงหรือ?

ไม่นานมานี้ ไทยเพิ่งจะคว้าตำแหน่งประเทศที่ดีที่สุด อันดับ 28 จากการประเมินของ usnews ท่ามกลางประเทศทั้งหมดในการสำรวจกว่า 105 ประเทศ ซึ่งถือว่าเราอยู่โซนบนๆ เลยทีเดียว แถมไทยยังได้อันดับ 5 ในทวีปเอเชียจากทั้งหมด 16 ประเทศ

ประเด็นก็คือแม้การจัดอันดับจะออกมาดูดี แต่ก็มีความเห็นว่าค้านความรู้สึกของหลาย ๆ ความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นก็คือการจัดอันดับครั้งนี้จะมีการประเมิน 10 ด้าน ได้แก่

  • ความเอื้อธุรกิจ
  • มรดกวัฒนธรรม
  • คุณภาพชีวิต
  • อำนาจบนเวทีโลก
  • วัฒนธรรมทรงอิทธิพล
  • ความน่าตื่นตาตื่นใจ
  • ความเป็นผู้ประกอบการ
  • ศักยภาพเติบโต
  • ความสามารถในการปรับตัว
  • ความตระหนักทางสังคม

และในแต่ละด้านก็จะมีการประเมินย่อย ๆ ออกไปอีก ลองมาเจาะดูกันว่าทำไมแม้ผลลัพธ์การประเมินจะออกมาดีแต่ทำไมหลายคนยังรู้สึกแย่ มีด้านไหนบ้างที่ไทยไปได้สวย และมีด้านไหนที่เรายังต้องปรับปรุง

ถ้ามองในภาพรวม อย่างที่กล่าวไปแล้ว ประเทศไทยได้อันดับที่ 28 ในของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ตามหลังเพียงแค่ประเทศระดับท็อปในภูมิภาคคือ 

  • ญี่ปุ่น (อันดับ 6) 
  • จีน (อันดับ 17) 
  • สิงคโปร์ (อันดับ 19) 
  • เกาหลีใต้ (อันดับ 20)

ประเทศไทยทำได้ดีในแง่การเอื้อธุรกิจ (ซึ่งจะเจาะลึกให้เห็นเบื้องหลังถัดไป) และแง่มุมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว (อันดับ 5) นอกจากนี้ ยังถูกประเมินในแง่บวกเกี่ยวกับศักยภาพเติบโต (อันดับ 7) แต่ก็ทำได้ไม่ดีในด้านคุณภาพชีวิตประชาชน (ได้ 23.7 เต็ม 100 คะแนน) อำนาจบนเวทีโลก (11.6 คะแนน) แถมยังไม่เอื้อให้คนเป็นผู้ประกอบการ (17.2 คะแนน)

ถ้าลองดู “ความเอื้อต่อธุรกิจ” จะเห็นว่าไทยได้คะแนนสูงถึง 73.2 คะแนนเต็ม 100 แต่ที่เป็นไฮท์ไลต์สำคัญก็คือคะแนนตรงนี้มาจาก แรงงานราคาถูกที่ได้ไปถึง 99.1 คะแนน แถมความโปร่งใสของรัฐ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีหากอยากให้ระบบทุนนิยมก่อดอกผลให้คนทุกคนจริง ๆ) กลับได้เพียง 4.6 จาก 100 คะแนน

“คุณภาพชีวิต” คือหมวดที่กระทบถึงทุกคนแต่ไทยทำได้ไม่ดีเท่าการเอื้อต่อภาคธุรกิจ เพราะได้คะแนนเพียง 23.7 คะแนน จุดน่าสนใจคือต่างชาติมองว่าประเทศไทยของถูกแบบ 100 คะแนนไม่หัก แต่ความเหลื่อมล้ำของรายได้กลับตกต่ำ ได้คะแนนแค่ 3.3 คะแนน แถมระบบสาธารณสุขและการศึกษาของรัฐก็ได้คะแนนราว ๆ 3 จาก 100 คะแนนเท่านั้น

ถ้าถามว่าทำไมประเทศไทยถึงได้คะแนนสูงในภาพรวม ต้องบอกว่าหมวดหมู่ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเข้ามาแบกเราเอาไว้ เช่น ในหมวด “มรดกวัฒนธรรม” ที่เรากวาดคะแนนไปกว่า 74.8 คะแนน อยู่ในอันดับ 10 ของโลกและอันดับ 2 ของเอเชีย ได้คะแนนเรื่องอาหารไปกว่า 91.3 คะแนน ได้เรื่องของที่เที่ยวทางภูมิศาสตร์ถึง 85.9 คะแนน พูดง่าย ๆ คือเราทำได้ดีในของที่เคยมีอยู่แล้ว

ประเทศไทยถูกมองว่า “น่าตื่นตาตื่นใจ” เพราะคะแนนในหมวดนี้ของเราสูงถึง 82 คะแนน ทั้งความสนุก ความเป็นมิตร ภูมิอากาศ ภูมิทัศน์ ก็ได้คะแนนเกิน 70 กันทั้งสิ้น ถูกลงความเห็นว่าเหมาะกับการท่องเที่ยว โดยเราถูกจัดเป็นเบอร์ 1 ของเอเชียในเรื่องนี้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในด้าน “ความทรงอำนาจ” ต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้โดดเด่นในเรื่องนี้ เพราะไทยได้คะแนนผู้นำแค่ 4.1 คะแนน กำลังทหารที่เราภูมิใจนักก็ได้แค่ 3.1 คะแนน แถมคะแนนพันธมิตรที่มีบนเวทีโลกก็มีแค่ 5.4 คะแนน และที่แย่ที่สุดคือเราได้คะแนนเรื่องการส่งออก (ซึ่งถือเป็นอำนาจต่อรอง) 39.2 คะแนน ซึ่งแม่จะดูสูงอยู่แต่ก็ต่ำกว่าเพื่อนบ้านที่เป็นดาวรุ่งหน้าใหม่อย่างเวียดนาม

อำนาจเชิงวัฒนธรรมของไทยที่รัฐพยายามส่งเสริมก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ เพราะคะแนนด้าน “วัฒนธรรมทรงอิทธิพล” ของเราอยู่ที่ 39 เต็ม 100 คะแนน ข้อดีคือเราได้คะแนนอิทธิพลวัฒนธรรมในสื่อบันเทิงสูง แต่ขาดแบรนด์ที่เป็นที่จดจำและขาดความเข้ากับสมัยใหม่ สำหรับกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็อยากให้เราลองดูญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีคะแนนในเรื่องนี้สูงมาก

และแม้ความเอื้อต่อธุรกิจของเราจะสูง แต่นั่นอาจไม่ได้ดีสำหรับทุกคนเพราะคะแนนเรื่อง “ความเป็นผู้ประกอบการ” ของเราถือว่าต่ำมากโดยได้คะแนนไปเพียง 17.2 คะแนน คือแรงงานของเรามีฝีมือก็จริงแต่ประเด็นคือธุรกิจมีความโปร่งใสต่ำ ระบบการศึกษาไม่เอื้อ โครงสร้างดิจิทัลก็ไม่ดี ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ ถ้าลองไปเชื่อมโยงกับคะแนนด้านความเอื้อกับธุรกิจ (แรงงานถูกแต่ไม่โปร่งใส) ก็จะเห็นภาพเรื่องนี้ชัดขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับคะแนนด้านที่เหลือ ประเทศไทยถูกมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตสูงเป็นอันดับ 7 ได้ไป 64.7 คะแนน ได้คะแนน “ความสามารถในการปรับตัว” 24.7 คะแนน และได้คะแนนด้าน “ความตระหนักทางสังคม” 7.4 คะแนน 

ที่น่าสนใจคือ ประเทศในเอเชียได้คะแนนเรื่องนี้ต่ำกันทั้งสิ้น ถ้าถามว่าต่ำแค่ไหน บอกได้เลยว่าขนาดไทยได้คะแนนต่ำเตี้ยแบบนี้ก็ยังเป็นที่ 4 ของเอเชีย แถมอันดับ 1 ของเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็ยังได้แค่ 25 คะแนนเท่านั้น

ที่มา – usnews (1)(2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน