รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ผิดกฎหมายหรือไม่?

รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ผิดกฎหมายหรือไม่? เมื่อแค่เสิร์ชหาข้อมูลในกูเกิลก็เจอกับธุรกิจนี้ และธุรกิจนี้ส่งผลอย่างไรต่อวงการวิชาการ 

ใครที่เคยผ่านการเรียนในระดับ ปริญญาโท ปริญญาเอก จะรู้ว่าการอดหลับ อดนอน การเสียน้ำตาให้กับการทำ IS ธีสิส และ งานวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนิสิต นักศึกษา กว่าจะไปถึงเส้นทางแห่งการคว้าใบปริญญาไม่ง่ายนัก บางคนหมดพลังกาย หมดพลังใจกลางทางก็มีเช่นกัน 

หลายคนมุ่งมั่นตั้งใจทำธีสิส ออกมาเพื่อที่ตัวเองจะได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ แต่ก็มีคนหัวใสเห็นว่าการทำธีสิสมีหลายขั้นตอน เหนื่อย กว่าจะผ่านไปแต่ละบท ค่อนข้างยาก จึงเกิดเป็นธุรกิจรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ค่าจ้างทำวิทยานิพนธ์เริ่มตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไม่จนถึงหลักแสน 

วิธีง่ายๆ…ลองเสิร์ชหาข้อมูลในกูเกิล ก็จะพบว่า ปรากฏเว็บไซต์รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ หลากหลายเว็บไซต์สนราคาก็ต่างกัน ขึ้นอยู่กับหัวข้อที่เลือก คณะที่เรียน ความยากง่ายในการหาข้อมูล ทั้งนี้ธุรกิจรับจ้างเหล่านี้ยังมีการติวเข้มให้ผู้เรียนจะเข้าไปสอบปากเปล่ากับทางคณะกรรมการ และ อาจารย์ที่ปรึกษาอีกด้วย 

การจ้างทำวิทยานิพนธ์ผิดกฎหมายหรือไม่??

ทีมงาน Brand Inside สำรวจข้อมูลพบว่ามีหนึ่งในเว็บไซต์ที่รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ระบุข้อความว่า

“การจ้างทำวิทยานิพนธ์ไม่ผิดกฎหมาย หลายคนที่เคยได้ยินว่ามีการจ้างทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ก็คงสงสัยกันอยู่บ้างสินะว่า การจ้างทำวิทยานิพนธ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือป่าว เราจะตอบให้เข้าใจตรงกัน ว่าการจ้างทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกนั้นไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

เนื่องจากการจ้างทำวิทยานิพนธ์เป็นเพียงเครื่องมือในการช่วยทำรูปเล่มเนื้อหาของงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เท่านั้น ไม่ได้ถึงการซื้อวุฒิการศึกษาแต่อย่างใด เพราะนักศึกษาที่จ้างทำงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์นั้นยังต้องเข้าเรียนให้ครบตามกำหนดของหลักสูตร ต้องส่งงานให้กับทางอาจารย์ประจำวิชาให้ครบ เพื่อให้ได้คะแนนเก็บของแต่ละรายวิชาเหมือนเดิม”

แต่เมื่อเปิดดูข้อกฎหมายก็จะพบว่า การจ้างทำงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ เป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ. อุดมศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งระบุว่า 

“ห้ามมิให้ผู้ใด จ้างวาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร  หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 

จะเห็นว่าตามกฎหมายแล้ว ผู้ใด จ้างวาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ผิดกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ นาย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากที่มีเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ที่โฆษณารับทำวิจัยและวิทยานิพนธ์ปรากฏในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ต่างๆ จึงได้ให้กระทรวง อว. ตรวจสอบข้อมูล 

เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวผิดกฎหมายและจริยธรรมการวิจัย ส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของระบบการศึกษาและวิจัย จึงให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงผู้ที่จ้างวาน ผู้รับจ้างและผู้ร่วมไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย อาจารย์หรือนักศึกษาก็จะต้องถูกดำเนินคดีให้ได้รับโทษตามกฎหมายเช่นกัน

คำถามที่น่าสนใจคือ จริง ๆ แล้วการเรียนในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ของนิสิต นักศึกษา คืออะไร ต้องการแค่ใบปริญญาในการเบิกทางต่อยอดไปสู่การอัพเงินเดือน เชิดชูหน้าตา ฐานะ ชื่อเสียง หรือว่า ต้องการมาเรียนรู้หาเพื่อความรู้ความเชี่ยวชาญ เพราะสุดท้ายจะย้อนกลับไปที่คำพูดเดิม ๆ ที่เราเคยได้ยินคือ “การศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่” 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา